ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง

 มูลนิธิโครงการหลวงได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 4 ด้าน คือ

  1. การดำเนินงานภายในศูนย์ฯ
    1) การสาธิตการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร และบุคคลภายนอก
    2) การควบคุมคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร
    3) การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการตลาด
  2. การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกร
    1) การส่งเสริมอาชีพการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย
    2) การส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร เพื่อการใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและเป็นรายได้เสริม
  3. การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
    1) สนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ
    2) สนับสนุนให้เกษตรกรมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบในการดูแลสิ่งสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ
    3) การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ
  4. ประสานและร่วมมือกับภาคราชการและเอกชนในการพัฒนาด้านต่างๆ
    เพื่อประสานความร่วมมือกับภาคราชการ องค์กรส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ในการพัฒนาด้านต่างๆ โดยอาศัยกลไกของคณะทำงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ซึ่งมีนายอำเภอในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเป็นประธานคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องถิ่น

   

ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวง มีทั้งหมด 39 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยาและตาก มีความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และสิ่งใหม่ๆไปพัฒนาชุมชนชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวงให้ก้าวหน้าและยั่งยืน และมีความพร้อมที่จะเป็นฐานการเรียนรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงของประเทศไทย รวมทั้งยินดีที่จะให้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนบนพื้นที่สูงของนานาประเทศ ตามคำขวัญของโครงการหลวงที่ว่า

"โครงการหลวง ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก"


<< ที่ตั้งของ สถานีวิจัย/เกษตรหลวง และ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง >>