ความเป็นมา

นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชาวไทยภูเขาที่หมู่บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ทรงทราบมาว่าชาวไทยภูเขามีรายได้จากการปลูกท้อพื้นเมืองที่ส่งไปขายให้โรงงานทำท้อดองมีรายได้พอ ๆ กับการปลูกฝิ่น และทรงทราบว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สามารถเปลี่ยนยอดพันธุ์ท้อพื้นเมืองได้ จึงได้พระราชทานเงินจำนวน  200,000 บาท ให้จัดหาแปลงศึกษาทดลองไม้ผลเขตหนาว ซึ่งต่อมาได้เรียกชื่อว่า “สวนสองแสน” ซึ่งหมายถึงสวนที่มาจากเงินที่ได้พระราชทานให้ดังกล่าว พร้อมทั้งทรงกรุณา โปรดเกล้าฯ ตั้ง “โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้อำนวยการโครงการ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนดำเนินงาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้โดยพระราชทานเป้าหมายการดำเนินงาน 4 ประการ คือ

1) ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม

2) ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติคือป่าไม้และต้นน้ำลำธาร

3) กำจัดการปลูกฝิ่น

4) รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน


วันที่ 10 มกราคม 2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสเรื่อง “ช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา”
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความว่า..

"เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้นมีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มีโครงการเช่นนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม อยากที่จะให้ผู้อยู่ในที่ทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวให้มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าเราสามารถที่จะช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์มาก เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด ปลูกฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบการสูบฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้เป็นผลอย่างหนึ่ง

ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกที่อาจทำให้บ้านเมืองเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่า และปลูกโดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดีกินดีและปลอดภัยได้อีกทั้งประเทศ เพราะว่าถ้าเราสามารถทำโครงการนี้ให้สำเร็จให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง สามารถที่จะมีการอยู่ดีกินดีพอสมควรและสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่ารักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก"


ต่อมามีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศล สมทบการดำเนินงานของโครงการหลวง รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากมิตรประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ กระทั่ง พ.ศ. 2535 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนสถานภาพของโครงการหลวงเป็นมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้เป็นองค์กรที่มั่นคงถาวร ซึ่งกรอบการดำเนินงานพระราชทานประกอบด้วย 

1) ลดขั้นตอน 

2) ปิดทองหลังพระ 

3) เร็วๆ เข้า 

4) ช่วยชาวเขาเพื่อช่วยตัวเอง 


พุทธศักราช 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด การดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ให้มีความต่อเนื่อง ยั่งยืน เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในการดําเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง และมีศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ละมาด จังหวัดตาก เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัย เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งที่ 39 ของโครงการหลวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรผู้ทรงก่อตั้งโครงการหลวง