หลักการดำเนินงาน

วิธีการขับเคลื่อนการพัฒนาที่นำไปสู่ผลสำเร็จของโครงการหลวง

1) เข้าใจ.. วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเขาและบริบทพื้นที่สูง

(1) ชาวเขาปลูกฝิ่น สำหรับใช้บริโภคเป็นยา และจำหน่ายเป็นพืชหลักสร้างรายได้มาเลี้ยงครอบครัว แนวทางการแก้ไขเพื่อให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นที่เหมาะสม คือ ต้องหาพืชที่มีประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดีกว่ามาทดแทน ฝิ่น

(2) การเพาะปลูกด้วยวิธีดั้งเดิม ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การทำลายป่าต้นน้ำ จึงควรแนะนำการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี หรือสามารถนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกต้องและเหมาะสม

(3) ต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเขาด้วยการเกษตรที่มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี สามารถนำมาแปรรูปและสร้างรายได้ เพื่อให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น

(4) การปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หากส่งเสริมการปลูกป่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งเป็นไม้ทำฟืน ไม้สร้างบ้านเรือน รวมทั้งไม้ผล จะทำให้การส่งเสริมการปลูกป่า การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารได้ผลดีกว่า



2) เข้าถึง.. ชุมชนพื้นที่สูงบนดอยห่างไกลและบริบททางสังคม

การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่โครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์อย่างไม่ทรงถือพระองค์และเป็นกันเองกับชาวเขา ทำให้เกษตรกรชาวเขามีขวัญและกำลังใจ ตั้งใจปฏิบัติงานในการเพาะปลูกพืชทดแทนฝิ่นจนทำให้การปลูกฝิ่นหมดไปชาวเขายังให้ความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนบนพื้นที่สูง และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ตลอดจนสร้างผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศ์ทุกพระองค์ นับเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่ดีของการเป็นนักพัฒนา การเสด็จพระราชดำเนินไปถึงพื้นที่สูงบนดอยที่ห่างไกลของราษฎรชาวเขา จึงทำให้รับทราบถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และสภาพปัญหาต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาทุกข์ และแก้ไขปัญหาบนพื้นที่สูงให้กับราษฎรชาวเขาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม บริบททางสังคม และสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติงานระยะเริ่มต้นคณะอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานถวาย ได้ออกไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรชาวเขาในหมู่บ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อให้คำแนะนำ สาธิต และอบรมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเรียกหมู่บ้านเหล่านี้ว่า หมู่บ้านเยี่ยมเยียน อาทิ

  • อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับผิดชอบ บ้านช่างเคี่ยน แม่สาใหม่ อ่างขาง และแกน้อย
  • อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับผิดชอบ บ้านดอยป่าคา ห้วยผักไผ่ ปู่หมื่นในบ้านใหม่ร่มเย็น ถ้ำเวียงแก บ้านสวด และจอมหด
  • อาสาสมัครจากสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ รับผิดชอบ บ้านวังดิน ผาหมี สะโง๊ะ และเมืองงาม
  • อาสาสมัครจากกรมวิชาการเกษตร และศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์ รับผิดชอบ บ้านแม่ลาน้อย บ้านห้วยฮ่อม บ้านดง บ้านป่าแป๋ 

นอกจากการออกเยี่ยมเยียนพื้นที่ของอาสาสมัครแล้ว โครงการหลวงได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่โครงการหลวงไปปฏิบัติงานประจำอยู่ในพื้นที่ชุมชนบนพื้นที่สูงของโครงการหลวงอย่างใกล้ชิด โดยจัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงและสถานีเกษตรหลวง เพื่อรับทราบปัญหา ความต้องการของชุมชน และทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจัดเป็นหน่วยปฏิบัติงาน เรียกว่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงและสถานีเกษตรหลวง ซึ่งกระจายอยู่บนพื้นที่สูงต่างๆ ที่โครงการหลวงดำเนินงาน

จากการเข้าถึงชุมชนชาวเขาบนพื้นที่สูง ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และความจำเป็นของชุมชนจนชุมชนให้การยอมรับ และร่วมใจปฏิบัติงานสานต่อพระราโชบาย นับได้ว่าเกิดเป็นกระบวนการระเบิดจากข้างใน หรือบนพื้นฐานที่เป็นอยู่จริงของชุมชนบนพื้นที่สูง โดยมุ่งพัฒนาคนในชุมชนชาวเขาให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานพัฒนาและผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในรูปแบบประชาคมร่วมกันพัฒนา เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและสังคม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชาวเขาให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในสังคม แนวคิดหลักในการดำเนินงานดังกล่าวคือการพัฒนาแบบองค์รวมที่ใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มีสหวิชาการแบบองค์รวม กล่าวคือ มีองค์ความรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างมั่นคงและยั่งยืนตามแบบโครงการหลวง เป็นแนวทางการทำงาน




3) พัฒนา.. จากพื้นฐานของปัญหาและความต้องการของชุมชนบนพื้นที่สูง

โครงการหลวงได้ดำเนินการพัฒนาบนพื้นฐานความร่วมมือร่วมใจ พัฒนาตามสภาพปัญหา และสภาพชุมชน โดยการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง ในการสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการเกษตร ด้านการศึกษาและสุขอนามัยของชาวไทยภูเขา ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวเขาในชุมชน เพื่อร่วมกันทำงานในการพัฒนา โดยการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการวิจัยไปส่งเสริมเกษตรกร เกษตรกรได้รับความรู้และเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรกลุ่มต่างๆ อาทิ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การปฏิบัติตามแนวพระราชประสงค์และพระราชดำริในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ด้วยยุทธวิธีการปฏิบัติงานในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ตามแนวทางของมูลนิธิโครงการหลวงเกิดจากพระราชวินิจฉัย ทรงทดลองการใช้วิธีการพัฒนาทางเลือก เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ภายใต้หลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สามารถสร้างความสมดุลให้แก่ชีวิตผู้คนในชุมชนบนที่สูงทั้ง 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นรูปแบบการปฏิบัติงานที่ดี (Best Practice) ในการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างครบวงจร แนวปฏิบัตินี้ได้รับการเผยแพร่และขยายองค์ความรู้ และประสบการณ์กว่า 50 ปี ไปสู่ องค์กรอื่นๆ ทั้งภายในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขปัญหาในการพัฒนาเกษตรที่สูง การปลูกพืชเสพติด ความยากจน และความหิวโหยตลอดจนปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

นิทรรศการถอดรหัส จากเขา สู่เรา