จากการที่พื้นที่โครงการหลวงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง ที่มีระดับความสูงและสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน จึงเป็นผลให้พืชพรรณที่เหมาะสมสามารถเพาะปลูกได้แตกต่างกันออกไปและแตกต่างจากพื้นที่ราบทั่วไป ทำให้งานวิจัยเกษตรที่สูงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกของโครงการหลวง ดังนั้น งานวิจัยจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนางานของมูลนิธิโครงการหลวง นับแต่ปี 2512 เป็นต้นมา สถานีเกษตรหลวง และสถานีวิจัยโครงการหลวง ได้ถูกกำหนดให้เป็นฐานในการรองรับและสาธิต ผลิตและขยายพันธุ์ เป็นศูนย์ข้อมูลและบริการทางวิชาการ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกอบรมเกษตรกร ฝึกงานนักศึกษา ที่ผลิตผลงานทางวิชาการออกสู่งานส่งเสริม ซึ่งนอกจากเป็นสถานที่ดำเนินงานวิจัยทางการเกษตรด้านต่าง ๆ แล้ว ในขณะเดียวกัน ได้ส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรในหมู่บ้านรอบ ๆ สถานีเหล่านั้นด้วย
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ยังคงความเป็นแหล่งวิชาการและเป็นผู้นำในงานพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยมีภารกิจสำคัญคือ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนบนพื้นที่สูง เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการ ตลอดจนเป็นแหล่งธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงาม
งานวิจัยแรกเป็นการวิจัยหาพืช หรือสัตว์ ที่สามารถนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปประกอบอาชีพทดแทนการปลูกฝิ่นและการเผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และสามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ที่อากาศหนาวเย็น ซึ่งเกษตรกร สามารถคัดสรรไปปลูกได้ตามความเหมาะสมของวัฒนธรรมท้องถิ่นและความถนัดของตนเอง พืชที่วิจัยเหล่านี้ได้ถ่ายทอดต่อไปยังเกษตรกร และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ดังนั้นงานวิจัยของโครงการหลวง จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเกษตรกรชาวเขาอย่างมากมาย จากการปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย เปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืช เพื่อบริโภคในครัวเรือน และนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อเกษตรกรในโครงการหลวง เกษตรกรบนที่สูง และต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
จากปี 2512 จนถึงปี 2539 มีสถานีวิจัยเกิดขึ้น โดยเริ่มจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในปี 2512 สถานีเกษตรหลวงปางดะ ในปี 2530 ซึ่งได้พัฒนามาจากหน่วยขยายพันธุ์พืช ที่มีการปฏิบัติงานกันมาตั้งแต่ปี 2522 สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ในปี 2522 และได้เปลี่ยนเป็นสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ในปี 2550 และหน่วยวิจัยสายพันธุ์กาแฟอะราบิกาต้านทานราสนิม ที่ดำเนินมาแต่ปี 2517 ก็ได้เข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการหลวง เมื่อปี 2527 และได้ใช้ชื่อว่าสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนบนพื้นที่สูง
2. การเป็นต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
3. การเป็นแหล่งความรู้ทางวิชาการและการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
สถานีวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง ประกอบด้วย
2. สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอ จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,260-1,400 เมตร
3. สถานีเกษตรหลวงปางดะ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจาก ระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร
4. สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจาก ระดับน้ำทะเลประมาณ 680 เมตร
โดยสถานีวิจัยทั้ง 4 แห่ง ของมูลนิธิโครงการหลวง มีบทบาทที่สำคัญในการรองรับและสนับสนุนงานโครงการวิจัยต่าง ๆ ของฝ่ายวิจัย เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเมืองหนาวเพื่องานวิจัย ทดสอบ ทดลอง สาธิต ผลิต และขยายพันธุ์ รวมทั้งเป็นศูนย์ข้อมูลและบริการทางวิชาการ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกอบรมเกษตรกร ฝึกงานนักศึกษา ผลิตผลงานทางวิชาการออกไปสู่งานส่งเสริมอย่างกว้างขวาง การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบาย และการเจริญเติบโตของมูลนิธิฯ มาตลอดระยะเวลายาวนาน ยังคงเป็นแหล่งวิชาการ และการเป็นผู้นำในงานพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูง มีการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างการบริหารที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีภารกิจเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
<< ที่ตั้งของ สถานีวิจัย/เกษตรหลวง และ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง >>