ฟีโรด้วงหมัดผักคืออะไร

การใช้ฟีโรโมนในการควบคุมแมลงศัตรูพืช

ศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้กับพันธุ์พืชของเกษตรกร นอกจากโรคต่างๆ ที่มักสร้างความเสียหายให้กับพืชผลมากมายแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ‘แมลงศัตรูพืช’ ซึ่งพบอยู่ทั่วไปตามแปลงเกษตร โดยในแต่ละพื้นที่ก็มักเจอแมลงที่เป็นศัตรูพืชต่างชนิดกัน การกำจัด ดูแล หรือป้องกันก็ย่อมมีวิธีการที่หลากหลายให้เลือกใช้

ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ใช้สำหรับป้องกันศัตรูพืช ซึ่งเหมือนตัวช่วยลดความเสี่ยงจากการระบาด ช่วยกำจัด และช่วยลดปริมาณความเสียหายของพืชไปได้มาก ขณะนี้มีผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจและอยากแนะนำให้ได้รู้จักนั่นก็คือ ‘กับดักฟีโรโมน’ สารทดแทนสารเคมีชนิดใหม่ ที่ช่วยป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์

กับดักฟีโรโมนคืออะไร?

แมลงเป็นสัตว์ที่สามารถรับความรู้สึกต่อสารเคมีได้สูงกว่าสัตว์อื่นๆ แมลงใช้สารเคมีในการติดต่อสื่อสารกันเพื่อประโยชน์ต่างๆ หลายลักษณะเช่น ใช้ในการเลือกพืชอาหาร เลือกที่วางไข่ บอกทิศทางของเหยื่อ เพื่อการต่อสู้หรือป้องกันตัว และใช้ในการผสมพันธุ์ เป็นต้น โดยสารเคมีที่ปล่อยออกมานั้นจะกระตุ้นให้สัตว์หรือแมลงชนิดเดียวกันแสดงอาการโต้ตอบให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราเรียกสารเคมีนี้ว่า ฟีโรโมน (Pheromone)

ปกติแล้วฟีโรโมนที่พบในสัตว์ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ

1. ฟีโรโมนเพศ (Sex Pheromone) เป็นสารเคมีที่ปล่อยออกมาจากสัตว์หรือแมลงเพศใดเพศหนึ่งเพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามมาผสมพันธุ์ แมลงจำพวกผีเสื้อจะมีฟีโรโมนชนิดนี้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่น

2. ฟีโรโมนที่มีผลทำให้เกิดการรวมตัวกัน (Aggregation Pheromone) เป็นสารเคมีที่ทำให้สัตว์หรือแมลงทั้งสองเพศปล่อยออกมาเพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การปล่อยฟีโรโมนของด้วงปีกแข็งเพื่อดึงดูดให้รวมกลุ่มกัน เพื่อบอกให้รู้ว่ามีอาหารอุดมสมบูรณ์เหมาะเเก่การกินและวางไข่

3. ฟีโรโมนที่ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย (Alarm Pheromone) สัตว์บางชนิดจะใช้ฟีโรโมนประเภทนี้ในการเป็นสัญญาณเตือนพวกเดียวกันให้รู้ว่ามีอันตรายเกิดชึ้นให้รีบหนีหรือรวมกลุ่มกันต่อสู้

4. ฟีโรโมนที่ใช้เป็นเครื่องหมาย (Trial-marking Pheromone) แมลงบางชนิดขณะออกไปหาอาหารจะปล่อยฟีโรโมนชนิดนี้ไปตามทาง เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกทิศทางในการกลับรัง

สำหรับฟีโรโมนที่พบและนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรมากที่สุด คือ ฟีโรโมนเพศ ซึ่งนำมาทำเป็นกับดักฟีโรโมน โดยในแมลงบางชนิด ตัวผู้เท่านั้นที่จะผลิตฟีโรโมน เพื่อเรียกตัวเมีย แต่ในบางชนิดตัวเมียเป็นผู้ผลิต หรือบางชนิดมีการผลิตทั้งตัวผู้และตัวเมีย ทำให้เป็นฟีโรโมนที่มีความเฉพาะตัวใช้ได้กับแมลงแบบจำเพาะเท่านั้น


ประโยชน์ของกับดักฟีโรโมน

  1. ใช้สำรวจปริมาณการระบาด (survey) และพยากรณ์การระบาดของแมลง เพื่อตัดสินใจใช้สารฆ่าแมลงและช่วยลดแรงงานในการสำรวจแมลงได้
  2. ใช้ประโยชน์ในการกำจัดแมลงโดยตรง โดยการติดตั้งกับดักเป็นจำนวนมากเพื่อดักแมลง
  3. ใช้ในการทำให้แมลงเกิดการสับสนในการหาคู่ผสมพันธุ์ จะมีผลให้ปริมาณแมลงลดลง

กับดักฟีโรโมนที่มีการใช้ในปัจจุบันจะมีความเฉพาะเจาะจงตามชนิดแมลงทำให้เกษตรกรไม่ค่อยนิยมนำมาใช้เหมือนการใช้สารเคมีซึ่งมีสามารถกำจัดแมลงได้อย่างกว้างขวาง แต่การใช้กับดักฟีโรโมนย่อมมีข้อดีและข้อด้อยดังนี้

ข้อดีของการใช้ฟีโรโมนล่อแมลง ข้อด้อยของการใช้ฟีโรโมนล่อแมลง
1. ประหยัดค่าสารเคมีฆ่าแมลง 1. ใช้ได้กับแมลงเฉพาะชนิด ไม่กว้างขวางแบบการใช้สารเคมี
2. ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม 2. ถ้าใช้กันยังไม่แพร่หลายจะหาซื้อยาก
3. ใช้ร่วมกับการกำจัดแมลงแบบผสมผสานได้ 3. ผู้ใช้ต้องมีความรู้ในเรื่องนี้จึงจะใช้ได้ผล
4. วิธีใช้ง่ายและสะดวก 4. การกำจัดจะได้ผลดีต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง

กับดักฟีโรโมนจะใช้กับแมลงกลุ่มเป้าหมาย โดยจะแบ่งกลุ่มแมลงตามชนิดของฟีโรโมนที่ใช้ล่อ เช่น ผีเสื้อกลางคืน มอดแป้ง มอดเจาะเปลือกสน (Ips sp.) แมลงวันผลไม้ ยุง ฯลฯ ซึ่งส่วนประกอบหลักๆ ในกับดักฟีโรโมนจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ สารสกัดฟีโรโมน หรือฟีโรโมนสังเคราะห์ (ฟีโรโมนที่นักเคมีสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ), วัสดุสำหรับใส่หลอดบรรจุสารฟีโรโมน เช่น กล่องกระดาษ ขวด หลอด ฯลฯ และสารที่ใช้ทำให้แมลงตาย เช่น กาวเหนียว, สารเคมี, แอลกอฮอล์ ฯลฯ

รูปแบบของกับดักฟีโรโมนนั้นจะแตกต่างกันในรูปร่างขนาด ส่วนโครงสร้างของกับดักก็มักจะสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมหรือระบบนิเวศของแมลงชนิดเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น กับดักฟีโรโมนสำหรับกำจัดด้วงหมัดผัก

ด้วงหมัดผักอยู่ในวงศ์ Chrysomelidae อันดับ Coleoptera โดยชนิดที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่ คือ ด้วงหมัดผักแถบลาย (Phyllotreta sinuata) และด้วงหมัดผักสีน้ำเงิน (Phyllotreta chontanica) โดยเป็นแมลงศัตรูผักที่สร้างความเสียหายรุนแรงให้กับพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ผักกาดขาวปลี และผักกวางตุ้ง เป็นต้น โดยเฉพาะในสภาพอากาศช่วงต่อระหว่างฤดูหนาวและฤดูร้อน ลักษณะการทำลายของตัวอ่อนด้วงหมัดผักคือกัดกินหรือชอนไชเข้าไปกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักทำให้ผักเหี่ยวเฉาและไม่เจริญเติบโต หากรากถูกทำลายมากๆ อาจทำให้ผักตายได้ ส่วนตัวเต็มวัยจะกัดกินใบทำให้ใบมีรูพรุนซึ่งบางครั้งพบกัดกินลำต้นและกลีบดอกด้วย ด้วงหมัดผักชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดขึ้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ด้วงหมัดกระโดด


ตัวเต็มวัยด้วงหมัดผัก

การป้องกันกำจัดด้วงหมัดผักมีหลากหลายวิธี เช่น การไถพรวนดินตากแดด การใช้จุลินทรีย์ การใช้สารเคมีกำจัดแมลง การใช้กาวเหนียวดักแมลง เป็นต้น ซึ่งการใช้ฟีโรโมนในการดึงดูดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน วิธีการใช้ง่ายมีประสิทธิภาพในการควบคุมได้ดีและใช้งานได้นาน

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ทำการค้นคว้างานวิจัยเกี่ยวกับฟีโรโมนด้วงหมัดผักจนประสบความสำเร็จ และสามารถนำมาผลิตเพื่อให้เกษตรกรในมูลนิธิโครงการหลวง และเกษตรกรโครงการขยายผลแบบโครงการหลวงได้ใช้สำหรับล่อด้วงหมัดผักในแปลงเกษตรกร ซึ่งในปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร และสามารถจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจมาซื้อไปใช้สำหรับกำจัดด้วงหมัดผักได้ทั่วไป สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และวิธีการใช้ในแปลงมีดังนี้

1.รูปแบบของผลิตภัณฑ์

สารล่อดึงดูดแมลงมีลักษณะเป็นของเหลวบรรจุในจุกพลาสติก นำไปใช้กับกับดักแบบครอส (Cross trap) ซึ่งทำด้วยฟิวเจอร์บอร์ด 2 แผ่น ซึ่งนำมาประกอบกันเป็นกับดักหุ้มด้วยพลาสติกทากาวเหนียว

ผลิตภัณฑ์ฟีโรโมนด้วงหมัดผักที่ผลิตโดยโรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง

  

2. การเตรียมกับดัก

2.1 การเตรียมกับดักแบบครอส

1. ตัดแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 30x35 ซม.

2. ตัดแผ่นบอร์ด 2 แผ่น ออกเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 7x7 ซม. แล้วใช้คัดเตอร์ผ่าทั้งสองแผ่นออกเป็นแนวยาวจากตรงกลางของขอบบนลงมาด้านล่างจนถึงช่องสี่เหลี่ยมที่ตัดไว้ แผ่นหนึ่ง ส่วนอีกแผ่นตัดจากขอบล่างขึ้นไปหาช่องนั้น

3. นำฟิวเจอร์บอร์ดที่ตัดไว้ทั้ง 2 แผ่น มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยนำส่วนที่ผ่าตรงกลางเสียบเข้าด้วยกัน (ภาพที่ 1และ2) แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดจะต่อเชื่อมกันพอดี(ภาพที่3)


4. เตรียมไม้สำหรับเป็นหลักยึดความยาว 50 เซนติเมตร ตัดส่วนโคนของหลักให้แหลมเพื่อง่ายต่อการปักลงบนพื้นดิน (ภาพที่4) ใช้มีดผ่าด้านบนตามขวางลึกประมาณ 10 เซนติเมตร ตัดกันเป็นรูปกากบาท (ภาพที่5) แล้วนำฟิวเจอร์บอร์ดที่เตรียมไว้มาเสียบเข้าตรงรอยผ่าด้านบนของหลักยึด (ภาพที่6) เพื่อใช้ยึดกับตัวกับดัก


5. วิธีติดสารดึงดูดเข้าไปในกับดัก โดยนำฝาขวดขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มาใช้บรรจุ paraffin gel และสารดึงดูด (ภาพที่7) และใช้สำลีหยดสารดึงดูดลงไป (ภาพที่8) นำทั้งสองแบบผูกติดตรงช่องที่ตัดไว้บนฟิวเจอร์บอร์ด


ภาพที่ 7 ลักษณะการใช้สารดึงดูดด้วงหมัดผักใน paraffin gel ร่วมกับกับดักแบบครอส


ภาพที่ 8 ลักษณะการใช้สารดึงดูดด้วงหมัดผักหยดบนสำลี ร่วมกับกับดักแบบครอส

3. วิธีการติดกับดัก

แขวนสารล่อดึงดูดด้วงหมัดผักซึ่งบรรจุในสำลี หรือบรรจุ paraffin gel ใช้ลวดผูกกับแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดตรงช่องสี่เหลี่ยม (ภาพที่6) นำกาวเหนียวทาบนแผ่นพลาสติกที่หุ้มฟิวเจอร์บอร์ด จากนั้นนำไปติดตั้งในแปลงปลูกพืชช่วงก่อนหรือหลังย้ายปลูกไม่เกิน 3 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณด้วงหมัดผักตั้งแต่เริ่มปลูกพืชต่อเนื่องจนถึงเก็บเกี่ยว วางกับดักระยะห่าง 3-4 เมตร ให้สูงกว่าระดับความสูงของต้นพืช 10-20 เซนติเมตร สารล่อจะออกฤทธิ์นาน 4 สัปดาห์ (28 วัน) จึงต้องเปลี่ยนอันใหม่มาแทน และต้องเปลี่ยนพลาสติกใสที่ทากาวเหนียวเมื่อกาวมีความเหนียวลดลง


ภาพที่ 9 ด้วงหมัดผักแถบลายที่ติดกับดักกาวเหนียว

สรุป

กับดักฟีโรโมน ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยกำจัดเเมลงได้อย่างปลอดภัย ไร้สารเคมี ช่วยลดอันตรายจากความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืชต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยควบคุมปริมาณแมลงเเบบจำเพาะได้อย่างเห็นผลทันที นี่จึงเป็นอีกทางออกที่ช่วยให้คงประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้ได้อย่างง่ายและสะดวก ซึ่งในอนาคตหากมีการพัฒนาต่อไปก็คงเป็นกับดักที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี


เอกสารอ้างอิง:

  • จอมสุรางค์ ดวงธิสาร วีรเทพ พงษ์ประเสริฐ ไสว บูรณพานิชพันธุ์ และจิราพร ตยุติวุฒิกุล. 2550. ชีววิทยา และนิเวศวิทยาของด้วงหมัดผักแถบลายในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย. วิทยาสารกําแพงแสน5(1): 20-29.
  • จิราพร กุลสาริน และอภิวัฒน์ ธีรวุฒิกุลรักษ์. 2560.โครงการย่อยที่ 5 การวิจัยและพัฒนาสารดึงดูดด้วงหมัดผัก.ในโครงการย่อยภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพเกษตรจากความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูง. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
  • สัจจะ ประสงค์ทรัพย์. 2558. ด้วงหมัดผักแถบลาย. (ระบบออนไลน์). แหล่งข้อมูล: http://hort.ezathai.org/?p=3489 (14 ตุลาคม 2558).
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) . 2562. ฟีโรโมน (ระบบออนไลน์). www.nstda.or.th/
  • Soroka, J. J., R. J. Bartelt, B. W. Zilkowski and A. A. Cosse´. 2005. Responses of flea beetle Phyllotretacruciferae to synthetic aggregation pheromone components and host plant volatiles in field trials. Journal of Chemical Ecology (in press) 8: 1829-1843.
  • https://shop.grotech.co/blog/pheromone-trap-for-pests/


วิธีใช้ฟีโรด้วงหมัดผักร่วมกับกับดักกาวรูปกากบาท