สถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง กรุงเทพฯ


สถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง กรุงเทพฯ เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์ผลิตผลมูลนิธิโครงการหลวงในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ เป็นอาคารแบบ 2 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้นที่ 1 ร้านโครงการหลวง สาขา outlet กรุงเทพฯ เป็นส่วนของห้องจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ทั้งแบบค้าปลีกและค้าส่ง มีผลิตผลและผลิตภัณฑ์นานาชนิดจากการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่พัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวง ในเขต 7 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ ผัก ผลไม้ ดอกไม้เมืองหนาว พืชไร่ ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์บำรุงรักษาพืช เป็นต้น

ผลิตผลและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังมีผลิตภัณฑ์จากโครงการส่วนพระองค์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์จากบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และโครงการอื่น ๆ

นอกจากส่วนจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีโซนจำหน่ายชา กาแฟ และเครื่องดื่มต่าง ๆ จากวัตถุดิบของโครงการหลวง ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์-วันอาทิตย์ ในเวลา 08.00-18.00 น.


ชั้นที่ 2 ห้อง “โครงการหลวงนิทรรศน์” เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แบ่งพื้นที่รับชมออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 ทศมมหาราชา สืบสานศาสตร์ ชนกาธิเบศรดำริ เป็นการประมวลภาพพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวง ร้อยเรียงกับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญตลอดระยะเวลา 55 ปี ของการก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวง
  • ส่วนที่ 2 จัดแสดงผลสำเร็จของการพัฒนาชุมชนบ้านเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ฝิ่นผืนสุดท้ายของประเทศไทย และเป็นต้นแบบการใช้พื้นที่อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • ส่วนที่ 3 เป็นวิดีทัศน์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประโยชน์สุขของชาวเราและชาวโลก
  • ส่วนที่ 4 จัดแสดงโครงการหลวงโมเดล ที่นำสู่ความสำเร็จจนได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ
  • ส่วนที่ 5 จัดแสดงด้วยภาพผลสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นจุดถ่ายภาพที่ระลึก และจอภาพระบบสัมผัสที่แสดง 40 เส้นทางเรียนรู้โครงการหลวง ประกอบด้วยพื้นที่ดำเนินงานที่เรียกว่า สถานีวิจัย สถานีเกษตรหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง รวม 39 แห่ง ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ศูนย์กลางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของมูลนิธิโครงการหลวงที่จังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ บริเวณชั้น 2 ยังมี ห้องประชุม สัมมนา ห้องรับประทานอาหาร ที่สามารถรองรับคณะฝึกอบรมในหลักสูตรการเรียนรู้ต่าง ๆ