ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ

ตั้งอยู่ ณ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งใหม่ของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนาม “ชนกาธิเบศรดำริ” หมายถึง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สร้างขึ้น เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัย นวัตกรรม การศึกษา บุกเบิกองค์ความรู้ใหม่อย่างครบวงจร ถ่ายทอดประสบการณ์ให้งานโครงการหลวงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และประชาชนโดยรวมของประเทศ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2565 โดยการสนับสนุนจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน บนเนื้อที่ 21 ไร่ 9 ตารางวา ประกอบด้วย อาคารปฏิบัติการจำนวน 7 อาคาร คือ อาคารอำนวยการ อาคารปฏิบัติการ 1 อาคารปฏิบัติการ 2 อาคารอารักขาพืช อาคารเทคโนโลยีชีวภาพ อาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร และอาคาร DATA CENTER


      

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่



อาคารอำนวยการ พื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นจุดในการติดต่อประสานงานของภาคส่วนต่าง ๆ และเป็นห้องสำหรับผู้บริหารของมูลนิธิโครงการหลวง รวมทั้งเป็นห้องทรงงานขององค์นายกกิตติมศักดิ์มูลนิธิโครงการหลวง ตลอดจนเป็นที่รับรองสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญ

    


อาคารปฏิบัติการ 1 มีห้องประชุมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ห้องรับรองวิทยากร ห้องรับประทานอาหาร ห้องสมุด และสตูดิโอถ่ายภาพบันทึกเสียง

    


อาคารปฏิบัติการ 2 อาคารปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จำนวน 8 ฝ่าย รวมกว่า 150 คน

    


อาคารอารักขาพืช อาคารปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชบนพื้นที่สูง ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้บริการคลินิกพืชแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรของมูลนิธิโครงการหลวง และเป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูล และแหล่งเรียนรู้งานอารักขาพืชบนพื้นที่สูง

    


อาคารเทคโนโลยีชีวภาพ อาคารที่ใช้สำหรับการวิจัย ทดสอบ และพัฒนางานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ผลิตพืชปลอดโรค ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ทางการเกษตร เพื่อปรับปรุงพันธุ์และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

    


อาคารเมล็ดพันธุ์ และแปรรูปสมุนไพร ประกอบด้วยห้องปฏิบัติการ 4 ส่วน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการสารสกัด ห้องปฏิบัติการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาและห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งยังมีห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ โดยดำเนินการใน 2 กลุ่มงาน คือ

- งานงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรท้องถิ่น สมุนไพรเมืองหนาว และผลผลิตจากงานส่งเสริมเกษตรกร

- งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพรชนิดใหม่ เพื่อสร้างความหลากหลาย รวมทั้งยังวิจัยเทคโนโลยีการผลิตใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่พบในงานส่งเสริมเกษตรกร

    


อาคาร DATA CENTER ศูนย์ควบคุมระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อมต่อพื้นที่ดำเนินการใน 7 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสำนักงานกรุงเทพฯ และร้านโครงการหลวงสาขาต่าง ๆ