น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์

ลาเวนเดอร์ (Lavender : Lavandula angustifolia)

เป็นไม้ดอกอายุหลายปี โดยมีต้นกำเนิดแถบ เมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก สามารถพบได้ทางเหนือของประเทศสเปน นิยมนำมาปลูกเพื่อประดับสถานที่ให้ความสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับแปลง ไม้กระถาง และไม้ตัดดอก ตลอดจนสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหารชนิดต่างๆ ได้ โดยชาวอินเดีย และทิเบต ใช้เป็นสมุนไพรกันมานาน ช่วยฆ่าเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง และมีกลิ่นหอมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าลาเวนเดอร์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมูลนิธิโครงการหลวงได้ทดลองปลูกลาเวนเดอร์หลากหลายพันธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์เป็นดอกไม้แห้ง ประดับสถานที่ให้ความสวยงาม และเป็นส่วนประกอบอาหาร และในปี 2565 มูลนิธิโครงการหลวงได้รับพระราชทานลาเวนเดอร์ 6 พันธุ์ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้ดำเนินการปลูกเลี้ยง และดูแลในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตเป็นไม้กระถาง และขยายผลสู่งานส่งเสริม และผลิตน้ำมันหอมระเหย เพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าของพืช

น้ำมันหอมระเหย...คืออะไร?

น้ำมันหอมระเหย (essential oil) เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นและเก็บไว้ในส่วนต่าง ๆ ของพืช อีกทั้งยังมีกลิ่นเฉพาะตัวและน้ำหนักที่เบามาก จึงทำให้ร่างกายของเราสามารถดูดซึมและรับประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้ง่ายและเร็ว


ที่มา: https://www.sabaiarom.com/th/น้ำมันหอมระเหย-about-essential-oils/

ลาเวนเดอร์สร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมา...เพื่ออะไร?

ด้วยพืชนั้นไม่สามารถเคลื่อนย้ายตัวเองเพื่อหลีกหนีภัยอันตรายต่างๆ ได้ ดังนั้นพืชจึงสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นมาเพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยส่วนมากจึงพบว่าสามารถช่วยในเรื่องของการฆ่าเชื้อโรค ปรับสมดุล ตลอดจนการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยยังเป็นตัวกลางสำคัญที่ช่วยให้พืชสื่อสารซึ่งกันและกัน อีกทั้งกลิ่นหอมที่เป็นคุณสมบัติน้ำมันหอมระเหยยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยล่อแมลงมาให้ช่วยผสมเกสรและขยายพันธุ์ได้อีกด้วย


ที่มา: https://www.sabaiarom.com/th/น้ำมันหอมระเหย-about-essential-oils/

น้ำมันหอมระเหยมีกลไกการทำงาน...อย่างไร?

ปกติน้ำมันหอมระเหยโดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบเคมีอินทรีย์จากธรรมชาติรวมตัวกันอยู่นับพันชนิด ซึ่งสารต่าง ๆ เหล่านี้จะมีองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับร่างกายของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ร่างกายของเราจึงสามารถใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญสารที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ ยังมีขนาดโมเลกุลที่เล็กมาก จึงสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบฉนวนป้องกัน (Blood-Brain Barrier) เข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมการทำงานด้านความคิด ความรู้สึก อารมณ์ ตลอดจนสมองส่วนที่ควบคุมสั่งการผลิตฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่าง ๆ นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยยังสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือด และไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้สามารถออกฤทธิ์ในการปรับสมดุล และส่งผลต่อทุกระบบอวัยวะของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มา: https://www.sabaiarom.com/th/น้ำมันหอมระเหย-about-essential-oils/

การกลั่นน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์...ทำอย่างไร?

การกลั่นน้ำมันหอมระเหยนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะนิยมการกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam Distillation) เนื่องจากเป็นวิธีสกัดที่ปราศจากสารแปลกปลอมเจือปน จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง ปลอดภัย และต้นทุนไม่สูง โดยการกลั่นด้วยวิธีนี้ นำส่วนของต้นและดอกลาเวนเดอร์วางบนตะแกรงเพื่อให้ไอน้ำที่เกิดจากหม้อต้มไอน้ำจากด้านล่างระเหยผ่านขึ้นมา และนำพาโมเลกุลของสารอินทรีย์หอมระเหยในลาเวนเดอร์ให้ลอยตัวผ่านเข้าไปในท่อ แล้วเคลื่อนตัวผ่านไปยังท่อเกลียวที่หล่อน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิ เมื่อไอหอมระเหยถูกความเย็นจึงควบแน่นเป็นน้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย (Hydrosol หรือ Floral Water หรือ Herbal Water) และน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ (Lavender essential oil) ลอยอยู่ส่วนบนของน้ำ จากนั้นจึงนำส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำเก็บใส่ภาชนะ เพื่อตรวจสอบคุณภาพต่อไป น้ำมันหอมที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำจะถูกเรียกว่า น้ำมันหอมระเหย หรือ Pure Essential Oil (Botanicessence)

น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์...ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีลักษณะใส ไม่มีสี หรือมีสีเหลืองอ่อน ๆ มีกลิ่นหอมหวานของดอกลาเวนเดอร์ เนื่องจากกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์และคุณสมบัติทางการบำบัดรักษาที่หลากหลาย อาทิเช่น ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ บรรเทาอาการปวด และรักษาสมดุลของระบบประสาท ทำให้รู้สึกสงบ และผ่อนคลายทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ช่วยคลายอาการตึงตัวของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ได้รับความนิยมอย่างมากในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม และเครื่องหอมต่างๆ

สำหรับคุณสมบัติด้านความงามและการบำรุงผิว น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์เป็นน้ำมันหอมระเหยเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรงกับผิวหนัง โดยไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเหมือนน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นๆ ด้วยคุณสมบัติที่ต้านการอักเสบและฆ่าเชื้อได้ดี อีกทั้งยังช่วยสมานแผล และกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ รักษาอาการฟกช้ำ บรรเทาอาการของโรคผิวหนังต่างๆ ได้ดี ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้นำน้ำมันหอมระเหยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิเช่น สบู่อโรม่าลาเวนเดอร์ แชมพูและครีมนวดผม ลาเวนเดอร์ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเท้าลาเวนเดอร์ และผลิตภัณฑ์น้ำหอมกระจายกลิ่นลาเวนเดอร์ เป็นต้น