โครงการสวมหมวกให้ดอย (Hat on Hills)


จากวิจัยสู่การพัฒนางานป่าไม้บนพื้นที่สูง โครงการสวมหมวกให้ดอย (Hat on Hills)

โครงการหลวงถือกำเนิดขึ้นมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 เมื่อปีพ.ศ. 2512 จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขาในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย จึงทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดารและยากจนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลิกการปลูกฝิ่นโดยการปลูกพืชที่ถูกกฎหมายเพื่อสร้างรายได้ทดแทน และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยวัตถุประสงค์สำคัญในการก่อตั้งโครงการหลวง ระยะเริ่มแรกมี 4 ประการ คือ

  1. ช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม
  2. ช่วยชาวไทยโดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้และต้นน้ำลำธาร
  3. กำจัดการปลูกฝิ่น
  4. รักษาดินและใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน

ในระยะเริ่มต้น โครงการหลวงมุ่งศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชพันธุ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทดแทนฝิ่น พร้อมกับจัดหาตลาดรองรับผลผลิตที่เกิดขึ้น ต่อมาได้มีการจัดตั้งสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ รวม 38 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เพื่อดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมให้แก่ชาวเขาบนพื้นที่สูงในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวเขา โครงการหลวงดำเนินการส่งเสริมการฟื้นฟู อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งต้นน้ำของประเทศไทย โดยการดำเนินงานในระยะแรกเน้นการจัดการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เหมาะสมกับระดับความสูง ร่วมกับการส่งเสริมการปลูกป่าไม้

ในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศน์บนพื้นที่สูง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางการบริหารการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์ สร้างความสมดุลเพื่อให้มีความยั่งยืน โดยได้พระราชทานแนวคิดการปลูกป่าในเชิงผสมผสาน ทั้งด้านเกษตรวนศาสตร์และเศรษฐกิจสังคม ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้แก่ การปลูกไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืน นอกจากสามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ ให้ประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร

จากพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูป่าไม้ที่ถูกทำลาย และอนุรักษ์ให้กลับสู่ความสมบูรณ์ โครงการหลวงจึงได้ริเริ่ม “โครงการป่าไม้ หรือ โครงการปลูกป่าบนพื้นที่สูง” (Highland Reforestation Project) โดยในระยะแรกเน้นทดสอบการปลูกไม้โตเร็ว และไผ่ชนิดต่างๆ ที่นำเข้ามาจากไต้หวัน ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โดยผลการปลูกพบว่าพันธุ์ไม้โตเร็วหลายชนิดเติบโตได้ดี และไม้เหล่านี้เหมาะสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน เช่น ไม้จันทร์ทองเทศ (Fraxinus griffithii) เมเปิ้ลหอม (Liquidambar formosana) กระถินดอย (Acacia confusa) สนหนาม (Cunninghamia lanceolata) เพาโลว์เนีย (Paolownia taiwaniana) ซึ่งเป็นไม้ที่เติบโตเร็วมาก การบูร (Cinnamomum camphora) และซากุระดอย (Prunus cerasoides)

จากปัญหาการขาดแคลนไม้ฟืนของเกษตรกรในพื้นที่สูง ในปี พ.ศ.2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดให้มีการขยายผลการปลูกไม้โตเร็วที่ได้ศึกษาทดลองที่ดอยอ่างขางเพื่อให้เกษตรกรปลูกสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ซึ่งต่อมาเรียกชื่อโครงการดังกล่าวว่า “โครงการปลูกป่าชาวบ้าน” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่โครงการหลวง สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกป่าชาวบ้าน และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่าชาวบ้าน รวมทั้งลดการตัดฟันไม้จากป่าธรรมชาติและลดปัญหาความขัดแย้งด้านการบุกรุกป่ากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการป่าชาวบ้านของมูลนิธิโครงการหลวงเป็นต้นมา และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อให้การดำเนินงานโครงการป่าชาวบ้านให้กระจายไปตามพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ ทั้ง 39 ศูนย์ฯ /สถานีฯ ใน 7 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อันได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปางแม่ฮ่องสอน และ ตาก โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีการปลูกป่าชาวบ้านไปแล้วทั้งสิ้น 4,146.10 ไร่ เกษตรเข้าร่วมโครงการ 3,873 ราย

และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในหลายพื้นที่บนพื้นที่สูงพบการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เช่น การปลูกพืชล้มลุกบนพื้นที่ลาดสูงชัน นับเป็นการใช้พื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดชะล้างพังทลาย และความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลงอย่างรวดเร็ว มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนสารเคมีลงสู่สภาพธรรมชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเน้นการสร้างความสมดุลในการแก้ไขในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน

มูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดทำ “โครงการสวมหมวกให้ดอย” ขึ้น เพื่อเป็นรูปแบบการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแปลงขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง โดยการใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม (Holistic problem solving) ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้การสืบสาน และรักษา แนวคิดพระราชทาน “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 มาเป็นพื้นฐานการดำเนินงาน และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงตระหนักถึงประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญที่ดำเนินการต่อยอดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่

  1. ดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับหลักกฎหมาย ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ ตามมาตรา 19 และ มาตรา 16 พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติและกรมอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 64 และจัดทำแผนที่รายแปลง วิเคราะห์การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยอ้างอิงระเบียบ กฎหมาย หรือมติครม. ต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการฟื้นฟูป่าไม้ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย
  2. บริหารจัดการพื้นที่ตามหลักวิชาการ โดยใช้ร่างแผนการใช้ที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน (Land Plan) มาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยยึดรูปแบบการปลูกพืชในระบบวนเกษตรเป็นหลัก แบ่งสัดส่วนไม้ป่า ผสมผสานร่วมกับไม้เศรษฐกิจที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของชุมชน เช่น ไม้ผลชนิดต่างๆ กาแฟ กล้วย สมุนไพร พืชไร่ ฯลฯ
  3. สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร บนความสมดุลทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยมีผลตอบแทนจากไม้ป่า ไม้เศรษฐกิจ ที่สามารถต่อยอดไปสู่การแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างกลุ่ม อาทิ กลุ่มแปรรูป กลุ่มจักสาน เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชนให้ยั่งยืน
  4. บริหารจัดการพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าการปลูกป่า อาทิ จำนวนต้นไม้ต่อพื้นที่ ชนิดไม้ อัตราการรอดตาย การเจริญเติบโต ซึ่งสามารถแสดงผลในระบบออนไลน์
  5. การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่โครงการสวมหมวกให้ดอย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs : Sustainable Development Goals)

จากผลการดำเนินงาน

ในปี พ.ศ. 2565 มูลนิธิโครงการหลวง ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คัดเลือกพื้นที่ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ห้วยโป่ง ห้วยน้ำขุ่น และเลอตอ จัดทำโครงการนำร่องดำเนินโครงการสวมหมวกให้ดอยเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดย กฟผ. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2565 – 2575 โดยในปี พ.ศ. 2565 (ปีที่ 1) ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรเป้าหมายการวิเคราะห์ วางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับการปลูกพืช (Land use) โดยยึดรูปแบบการปลูกพืชแบบวนเกษตรเป็นหลักพื้นฐาน แบ่งสัดส่วนระหว่างต้นไม้ป่า ไม้ยืนต้น ผสมผสานร่วมกับไม้เศรษฐกิจ พร้อมทั้งจัดทำแผนที่รายแปลง มีการปลูกต้นไม้รูปแบบวนเกษตรบนพื้นที่สูง จำนวน 89,605 ต้น ในพื้นที่ปลูก 812.13 ไร่ เกษตรกร 157 ราย

ในปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิโครงการหลวงขยายเพิ่มพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 7 แห่ง พื้นที่ดำเนินการ จำนวน 828.75 ไร่ เกษตรกร 148 ราย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อกล้าไม้ ดูแลแปลง และดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 - 2576

ปัจจุบันมีการดำเนินงานโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม แล้วจำนวน 1,640.88 ไร่ ในแปลงเกษตรกรรวม 305 ราย โครงการสวมหมวกให้ดอย เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และเกื้อกูลกับการสร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อม มาขับเคลื่อนความสำเร็จของการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการสร้างแรงจูงใจ สร้างจิตสำนึกและกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นคุณค่าในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ร่วมกับไม้เศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะเป็นรายได้ที่ยั่งยืนของเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง