ไก่ไข่อินทรีย์เปลือกขาวโครงการหลวง

ไข่ไก่ แทบจะเป็นส่วนอาหารหลักหรือส่วนประกอบในเมนูอาหารของคนไทยเพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง ใช้ทำอาหารได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นต้ม ทอด ผัด ตุ๋นและยังมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญ เช่น โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ วิตามิน โดยเฉพาะโปรตีนของไข่นั้นเป็นโปรตีนที่มีกรดอมิโนที่จำเป็นครบทั้ง 10 ชนิด นอกจากสารอาหารดังกล่าวแล้วในไข่ยังประกอบด้วยสารอาหารสำคัญอื่นๆ เช่น โคลีนโฟเลต และเหล็ก ซึ่งจำเป็นต่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์โดยสารอาหารทั้ง 2 ชนิดนี้ดีต่อดวงตา ถึงแม้ในไข่จะมีคลอเรสเตอรอลสูงแต่เป็นคลอเรสเตอรอลที่ดีต่อสุขภาพช่วยเพิ่มค่าคลอเรสเตอรอลประเภทดี (HDL) และลดค่าคลอเรสเตอรอลประเภทไม่ดี (LDL) ดังนั้นไข่ไก่จึงเหมาะกับบุคคลทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือวัยชรา และปัจจุบันผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ปลอดภัยหรือผลิตภัณฑ์ที่มาจากระบบการเลี้ยงปล่อยอิสระตามธรรมชาติ ซึ่งมีผลการวิจัยที่พบว่าการเลี้ยงไก่ระบบปล่อยอิสระตามธรรมชาติจะทำให้คุณภาพเนื้อและไข่ที่ดี มีคุณค่าทางโภชนะที่ดีกว่าไก่ที่เลี้ยงในระบบขังคอกหรือแบบกรงตับซึ่งพบในการผลิตแบบอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของการผลิตไก่ไข่อินทรีย์ในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง

มูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มมีการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์เมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยใช้ไก่สายพันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร ซึ่งเป็นไก่สานพันธุ์ไข่ที่มีขนาดตัวเล็กให้ผลผลิตไข่มีสีขาวทั้งฟองเหมือนไข่เป็ดซึ่งแตกต่างกับไข่ไก่ที่พบเห็นกันมากในประเทศไทยที่มีสีน้ำตาล ทำให้ไข่ไก่สีขาวเป็นเอกลักษณ์ของไข่ไก่โครงการหลวงพร้อมทั้งยังมีการผลิตตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าได้รับไข่ที่ไก่มีคุณภาพดี มีโภชนาการสูง และปลอดภัยจากสารตกค้าง ปัจจุบันมีการเลี้ยงไก่ไข่ในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ทุ่งเริง ห้วยเสี้ยว และแม่แพะ

การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ของมูลนิธิโครงการหลวง

สายพันธุ์ไก่

ไก่ไข่สายพันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single Comb White Leghorn)เป็นไก่ไข่ที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนกลางของประเทศอิตาลีมีหลากหลายสีแต่สีที่นิยมมากที่สุดคือสีขาว ลักษณะประจำสายพันธุ์ คือ มีขนสีขาวทั้งตัว ขนาดตัวเล็กกว่าไก่สายพันธุ์อื่นๆ เพศผู้จะมีน้ำหนักเมื่อโตเต็มวัย เท่ากับ 2 – 3 กิโลกรัม เพศเมียจะมีน้ำหนัก เท่ากับ 1.8 – 2.2 กิโลกรัมเริ่มให้ไข่ที่อายุ 4 – 5 เดือน ให้ผลผลิตเร็วจะให้ไข่ปีละประมาณ 300 ฟอง ลักษณะไข่เปลือกมีสีขาวทั้งฟอง มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารเป็นผลผลิตได้ดี สามารถเลี้ยงปล่อยได้ และทนกับสภาพอากาศร้อน

การนำไก่ไข่ที่ไม่ได้ผลิตตามระบบปศุสัตว์อินทรีย์เข้าเลี้ยงในฟาร์มที่มีการรับรองอินทรีย์แล้ว ไข่ที่ได้ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์

องค์ประกอบของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์

  1. การตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่หรือสัตว์อื่นๆ ต้องเลือกพื้นที่ที่เป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม ไม่มีประวัติการเกิดโรคระบาด และพื้นที่ต้องไม่มีประวัติการใช้สารเคมีที่ห้ามใช้อย่างน้อย 3 ปี ในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินสามารถปลูกพืชหมุนเวียนได้
  2. โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ต้องมีความคงทนแข็งแรงสามารถป้องกันลม ฝน แดด และสัตว์พาหนะหรือสัตว์ที่จะเข้าไปทำอันตรายกับตัวไก่ได้ พื้นโรงเรือนควรเป็นพื้นที่ทำความสะอาดได้ง่ายไม่เกิดการสะสมของเชื้อโรค ภายในโรงเรือนต้องมีพื้นที่เพียงพอต่อตัวไก่ โดย ต้องมีพื้นที่ 0.25 ตารางเมตรต่อไก่ 1 ตัว หรือ ถ้าเลี้ยงไก่ 100 ตัว ต้องมีพื้นที่ภายในโรงเรือน 25 ตารางเมตร
  3. ภายในโรงเรือนต้องมีวัสดุรองพื้นเพื่อคอยซับมูลสัตว์ ถังน้ำขนาด 8 ลิตร 1 ถังต่อไก่ 50 ตัว ถังอาหารขนาดใหญ่ 1 ถังต่อไก่ 25 ตัว คอนนอน และรังไข่ที่เพียงพอกับจำนวนสัตว์
  4. พื้นที่ปล่อยอิสระให้เพียงพอสำหรับจำนวนไก่ที่เลี้ยง โดย ต้องมีพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อไก่ 1 ตัว หรือ ไก่ 100 ตัว ต้องมีพื้นที่ปล่อย 400 ตารางเมตร ภายในลานปล่อยต้องปลูกพืชหมุนเวียน สมุนไพร และพืชที่ให้ร่มเงา สำหรับให้ไก่จิกกินอย่างเพียงพอ ซึ่งโดยรอบพื้นที่ต้องมีการล้อมรั้วเป็นอาณาเขตของฟาร์มเพื่อป้องกันสัตว์อื่นๆ เข้ามาทำอันตรายกับตัวไก่
  5. คอกพักสัตว์ป่วย พื้นคอกต้องทำความสะอาดได้ง่ายไม่ก่อให้เกิดการสะสมของโรค
  6. ห้องเก็บอาหารสัตว์ เป็นห้องปิดมิดชิดป้องกันสัตว์พาหะได้ ควรมีพาเลทวางอาหารที่ยกสูงจากพื้น
  7. จุดป้องกันโรคก่อนเข้าฟาร์ม ให้มีที่ล้างมือ อ่างจุ่มเท้า และที่เปลี่ยนรองเท้าบูธสำหรับปฏิบัติงาน
  8. สถานที่เก็บผลผลิตไข่ต้องเป็นสถานที่เหมาะสมและไม่ทำให้ไข่เกิดการปนเปื้อนหรือปะปนกับผลผลิตที่ไม่ใช่อินทรีย์

อาหารและน้ำ

การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์อาหารสัตว์ที่ใช้ต้องมาจากวัตถุดิบที่ปลอดสารพิษและได้รับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีโภชนะที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุไก่ โดย ระยะปรับเปลี่ยนต้องมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีความเป็นอินทรีย์สัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% และวัตถุดิบทั่วไป 40% ของวัตถุแห้ง และเมื่อพ้นระยะปรับเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารสัตว์ต้องมีความเป็นอินทรีย์สัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% และวัตถุดิบทั่วไป 20% ของวัตถุแห้ง และไม่เสริมยาปฏิชีวนะ มีน้ำสะอาดให้ไก่กินสม่ำเสมอ รวมถึงการเสริมวัตถุดิบหรือผลพลอยได้ทางการเกษตร เช่น มะละกอ ข้าวโพด กล้วย ต้นกล้วย พืชผัก พืชตระกูลถั่ว สมุนไพร


การป้องกันโรคและการใช้สมุนไพรในไก่

การเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอินทรีย์ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคได้ ดังนั้นการป้องกันโรคและการเสริมภูมิต้านทานให้แม่ไก่จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ผู้เลี้ยงควรใส่ใจในการล้างมือและเปลี่ยนรองเท้าบูธก่อนเข้าปฏิบัติงานภายในฟาร์มเพื่อลดการนำเชื้อโรคจากที่อื่นเข้าฟาร์ม การพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้รับรองให้ใช้ในระบบอินทรีย์ก่อนการนำไก่เข้าเลี้ยงใหม่ทุกครั้งหรือการทำความสะอาดคอกไก่ ถังน้ำ ถังอาหาร เป็นประจำ ไม่มีให้ฝุ่นและเชื้อโรคสะสม รวมถึงการเสริมภูมิต้านทานด้วยสมุนไพรให้กับแม่ไก่เพื่อป้องกันการเกิดโรค

สมุนไพรเสริมสุขภาพไก่

1. ฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ แก้ไข้ แก้หวัดหน้าบวม แก้หวัดหน้าบวม แก้ท้องเสีย แก้ติดเชื้อในลำไส้ ช่วยให้เจริญอาหาร ฯลฯ

วิธีใช้ ใบตากแห้งบดเป็นผง 150 ซีซีต่ออาหารข้น 100 กิโลกรัม

2. ขมิ้นชันสรรพคุณ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบ ท้องเสีย ฯลฯ

วิธีใช้ เหง้าตากแห้งบดเป็นผง 150 ซีซีต่ออาหารข้น 100 กิโลกรัม

3. ไพลสรรพคุณ แก้ท้องอืด ท้องเสีย ขยายหลอดลม บิดเป็นมูกเลือด ฯลฯ

วิธีใช้ เหง้าตากแห้งบดเป็นผง 150 ซีซีต่ออาหารข้น 100 กิโลกรัม

4. บอระเพ็ดสรรพคุณ แก้ไข้ ขับพยาธิภายใน ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ฯลฯ

วิธีใช้ เถาสดทุบแช่น้ำให้สัตว์กิน หรือนำมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ น้ำ

5. ตะไคร้หอมสรรพคุณ ป้องกันไร ยุง ช่วยดับกลิ่นพื้นคอก

วิธีใช้ ใบใช้รองรังไข่ป้องกันไร หรือนำมาหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นพื้นคอกเพื่อดับกลิ่นได้เป็นอย่างดี

รู้หรือไม่

เปลือกไข่มีสารเคลือบผิวด้านนอกไว้ทำหน้าที่ปิดรูพรุนของเปลือกไข่เพื่อป้องกันไม่ใช้จุลินทรีย์เข้าไปทำลายเนื้อไข่หรือทำให้ไข่เน่า ในขณะเดียวกันยังช่วยลดการคลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำของไข่ขาวและไข่แดงไว้อีกด้วย ดังนั้นการล้างไข่ก่อนการเก็บเป็นการทำลายสารเคลือบเปลือกไข่นี้ทำให้รูพรุนที่เปลือกไข่มีขนาดใหญ่ขึ้น ไข่มีการคลายน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เร็วทำให้ไข่เสียความสดได้เร็ว และเป็นเหตุทำให้จุลินทรีย์เข้าไปในไข่ได้ง่ายทำให้ไข่เกิดการเน่าเสียได้ง่ายขึ้น ในการทดสอบความสดของไข่จึงสามารถทำง่ายๆ ได้โดยการนำไข่ไปลอยน้ำถ้าหากไข่ลอยขึ้นบ่งบอกถึงไข่เก่า

ในการเก็บรักษาไข่ไก่ให้คงความสดทำได้โดยการทำความสะอาดไข่ด้วยการใช้ผ้าแห้งเช็ดไข่เบาๆ แล้วนำเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส โดยการวางไข่ต้องหงายด้านป้านของไข่ขึ้นเนื่องจากมีฟองอากาศเป็นที่คายน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการจัดวางไข่ไว้ตรงกลางตู้เพื่อให้ความเย็นที่สม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง:

กฤติพิพัฒน์ รัตนนาวินกุล. (2563). คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่แบบอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง. เอกสารทางวิชาการ. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ค. 2564, สืบค้นเมื่อ http://extension.dld.go.th/th1/images/stories/63.pdf
กรมปศุสัตว์. ม.ป.ป. คู่มือการเลี้ยงไก่ไข่ระบบปล่อยอิสระและอินทรีย์:คู่มือแนะนำ. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด
อำนวย สุขเหมือน. ม.ป.ป.. การเก็บรักษาไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่. สืบค้นเมื่อ 28 พ.ค. 2564, http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_j/2536_41_131_p21-22.pdf