ซุปเปอร์ฟู้ด “คีนัว” พืชทางเลือกสู่การพัฒนาบนพื้นที่สูง

หากกล่าวถึงอาหารธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการต่อร่างกายสูง คนส่วนใหญ่คงนึกถึงธัญพืชเพราะธัญพืชเป็นอาหารที่สำคัญ เป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ช่วยให้พลังงานแก่มนุษย์ มีการปลูกกันโดยทั่วไป ราคาไม่แพง แต่มีประโยชน์มาก ปัจจุบันจึงมีผู้นำธัญพืชหลายชนิดไปผสมกับอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อการบริโภค

“คีนัว” (Quinoa)

ก็เป็นพืชอีกชนิดที่ถูกยกให้เป็นสุดยอดของอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นพืชพันธุ์พื้นเมืองมีแหล่งปลูกดั้งเดิมมาจากกลุ่มประเทศในเขตเทือกเขาแอนดิสในทวีปอเมริกาใต้ มีฐานพันธุกรรมกว้างตั้งแต่ลักษณะพันธุ์ป่า พันธุ์ปลูก และวัชพืช ชาวอินคาถือว่าเมล็ดคิวนัวเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ และทำการเพาะปลูกมากว่า 7,000 ปี โดยพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในกลุ่มประเทศโบลิเวีย เปรู และชิลี คีนัวจัดอยู่ในวงศ์ Chenopodiaceae เนื่องจากเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แต่มีลักษณะการใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคคล้ายกลุ่มธัญพืช จึงจัดประเภทการใช้ประโยชน์ของคีนัวเป็นธัญพืชเทียม จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผักโขม หัวบีทและปวยเล้ง เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ดอกมีลักษณะแบบช่อแขนง โดยจัดเลียงอยู่บนส่วนยอด เมล็ดมีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ หน้าตาคล้ายกับธัญพืชทั่ว ๆ ไปดอกของคีนัวมีหลากหลายสี มีทั้งสีขาว แดง ม่วง ดำ เหลือง เขียว ชมพู แตกต่างกันออกไป ตามแต่ละท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ปลูก จะพบมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น เปรู โปลิเวีย เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และชิลี เป็นต้น

คีนัว จึงเป็นพืชที่มากประโยชน์เป็นที่รู้จักกันในนามว่า Superfood มีคุณค่าทางโภชนาการสูงโดยเฉพาะเป็นแหล่งโปรตีน และกรดอะมิโน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มของธัญพืช หรือถั่วชนิดต่าง ๆ เมล็ดคีนัวมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมาก ได้แก่ โปรตีนที่มีปริมาณมากถึงร้อยละ 16 - 18 ของน้ำหนักแห้งเมล็ด ประกอบด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพดี ปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และธาตุอาหารที่จำเป็น นอกจากนี้คีนัวยังเป็นอาหารที่สามารถย่อยได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคมังสวิรัติหรือชอบรับประทานอาหารแบบคลีน ผู้ที่เป็นโรคแพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ สัตว์ทะเล และธัญพืชบางชนิด สามารถบริโภคทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ รวมทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้น้ำตาลแลคโตสและกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน นักโภชนาการได้ยกย่องให้คีนัวเป็นสุดยอดอาหารทรงคุณค่าอันดับที่ 4 จาก 10 อันดับ ของอาหารที่อยู่บนโลกได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ เป็นหนึ่งในพืชไม่กี่ชนิดที่มีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นมาเองได้ ถึง 9 ชนิด นอกจากนี้ คินัวยังมีเส้นใยที่สูงร้อยละ 18 – 25 มีโปรตีนสูง ปราศจากกลูเต็น อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารอาหารอีกมากมายทั้ง แมกนีเซียม, วิตามินบี, วิตามินอี, ธาตุเหล็ก, โพแทสเซียม, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงได้รับฉายาว่า ซูเปอร์ฟู้ด หรือธัญพืชที่คุณค่าทางอาหารสูง ทำไห้องค์การสหประชาชาติประกาศให้ปี 2556 เป็นปีแห่งคีนัว

สำหรับมูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มศึกษาและวิจัยคีนัว มาตั้งแต่ปี 2556 โดยทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี และสถานทูตชิลีประจำประเทศไทย โดยการปลูกทดสอบคีนัวในพื้นที่ของมูลนิธิโครงการหลวง ผลการทดสอบพบว่าพื้นที่สูงของประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตคีนัว และสามารถพัฒนาสู่การผลิตเพื่อการตลาดในประเทศไทยได้ จากความสำเร็จของานวิจัยในปี 2562 มูลนิธิโครงการหลวง ทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์คีนัว จำนวน 2 พันธุ์ คือ พันธุ์แดงห้วยต้มและพันธุ์เหลืองปางดะนำ ไปสู่การส่งเสริมการปลูกคีนัวซึ่งประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2567 จำนวนกษตรกรทั้งหมด 79 ราย พื้นที่ 48 ไร่ โดยมีปริมาณผลิตคีนัวในระบบมาตรฐาน GAP อยู่ที่ 9,622 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,443,300 บาท และปริมาณผลิตคีนัวในระบบมาตรฐานอินทรีย์อยู่ที่ 288 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46,080 บาท

ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่แรกในประเทศไทยที่มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกคีนัวเชิงการค้า โดยเริ่มแรกนำคีนัวมาทดลองปลูกครั้งแรก แรกเริ่มมีเกษตรกรที่สนใจปลูกเพียง 3 ราย เพราะคีนัวเป็นพืชใหม่ ยังไม่เป็นรู้จัก และไม่กล้าปลูก แต่เมื่อทดลองปลูกและเก็บเกี่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปริมาณ 100,000 บาทต่อราย รอบการปลูกใช้น้ำน้อย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ซึ่งสามารถส่งเสริมปลูกเป็นพืชเสริมในระบบเกษตรบนพื้นที่สูง โดยเฉพาะในช่วงท้ายของฤดูฝน ซึ่งโดยปกติช่วงเวลาดังกล่าวเกษตรกรบนพื้นที่สูงมีกิจกรรมด้านการเพาะปลูกพืชน้อย เนื่องจากถูกจำกัดด้วยปริมาณน้ำฝน จึงเป็นพืชทางเลือกหนึ่งที่เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงต่อไป

การวิจัยและพัฒนาคีนัวบนพื้นที่สูง