แนวทางการบริหารจัดการศัตรูพืชในวิกฤตโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน (GLOBAL WARMING) เป็นภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลก ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (พ.ศ. 2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจก ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลก มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 0.74 ± 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส จะเกิดวิกฤตต่างๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ภาวะโลกร้อนแล้ว


ภาพที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกในภาวะโลกร้อน

ผลกระทบที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และน้ำท่วม เป็นต้น ในปัจจุบันความแห้งแล้งทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกยิ่งสูงยิ่งมีความเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า “สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather Event ซึ่งเป็นภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลรุนแรงและบ่อยขึ้น โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงมากกว่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งกลางวัน หรือกลางคืน ล้วนแต่มีผลกระทบทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพในกาผลิตพืช เช่น การผสมเกสรไม่ติด ทำให้จำนวนดอก จำนวนเมล็ด จำนวนผลลดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มข้อจำกัดในการผลิตพืช ทั้งในเรื่อง ความแปรปรวนของปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝนที่ไม่สม่ำเสมอ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ส่งผลต่อการระบาดของศัตรูพืชที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงต่อแมลงศัตรูพืช

ศัตรูพืชเป็นปัญหาที่สำคัญในการผลิตพืชของเกษตรกรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น โรคพืช แมลงศัตรูพืชและวัชพืช ซึ่งส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพของผลิตผล สำหรับศัตรูพืชที่มีความสำคัญและได้รับผลกระทบอย่างสูงจาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้แก่ แมลงศัตรูพืช เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่มีอุณหภูมิของร่างกายใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอก แมลงจึงมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่ออุณหภูมิ เมื่อสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น แมลงมักจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะไปช่วยเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของน้ำย่อย กระบวนการทางเมแทบอลิซึม กระบวนการดูดซึมและกระบวนการสร้างสารชีวเคมีที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างรวดเร็ว และจากรายงาน หากอุณหภูมิมีการปรับสูงขึ้น 10 องศาเซลเซียส แมลงจะมีอัตรา เมแทบอลิซึมเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่า ทำให้แมลงกินอาหาร เคลื่อนไหว และพัฒนาตัวเร็วขึ้น จากการเผาผลาญพลังงานเร็วขึ้น ทำให้แมลงหิวโหยและจะกินพืชอาหารมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่มขี้นของอุณหภูมิ จึงมีผลต่อพฤติกรรมของแมลง การเจริญพันธุ์ของแมลง อัตราการอยู่รอดในช่วงฤดูหนาวของแมลงซึ่งมีความสัมพันธ์กับการต้านทานของแมลง ทำให้แมลงที่มีความต้านทานสูงจะอยู่ได้นานขึ้น รวมทั้งการเพิ่มจำนวนรุ่นของแมลง เช่น หากสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส เพลี้ยอ่อนจะมีจำนวนรุ่นเพิ่มขึ้น 4-5 รุ่นต่อปี นอกจากนี้ยังมีผลต่อขนาดประชากรและการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ของแมลงอีกด้วย ทั้งนี้มีการประมาณการว่า หากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกภายในปลายคริสต์ศตวรรษนี้ยังสูงขึ้น แมลงศัตรูพืชอาจจะกัดกินผลผลิตทางการเกษตรถึงร้อยละ 15 – 20 และหากระดับอุณหภูมิของโลกยังเพิ่มสูงขึ้นต่อไป คาดว่าความสูญเสียจาก เเมลงศัตรูพืชที่กัดกินข้าวโพด ข้าวสาลีและข้าว จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 8 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 36 เปอร์เซ็นต์จากระดับความเสียหายของศัตรูพืชในปัจจุบัน นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังส่งผลต่อการย้ายที่อยู่ของแมลง ความเสี่ยงของสายพันธุ์รุกรานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่าแมลงสายพันธุ์ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จะมีจำนวนประชากรลดลงและถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์อื่น ส่งผลให้ปัจจุบันพบศัตรูพืชใหม่เพิ่มขั้นอย่างต่อเนื่อง


ภาพที่ 2 แมลงศัตรูพืชที่สำคัญบนพื้นที่


ภาพที่ 3 ผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อแมลงศัตรูพืช

จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อแมลงศัตรูพืชแล้ว ยังมีผลกระทบต่อแมลงศัตรูธรรมชาติด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ศัตรูธรรมชาติบางชนิดมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งอาหารลดลง หรือไม่สามารถหาคู่ผสมพันธุ์ได้ เช่น มวนเพชฌฆาตในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ทำให้ไม่สามารถหาหนอนกระทู้ผักได้ตามปกติ จึงส่งผลให้จำนวนประชากรของมวนเพชฌฆาตลดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์และสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดลงด้วย เช่น หากอุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประสิทธิภาพของสารกำจัดศัตรูพืชลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีความสัมพันธ์กับการระบาดของโรคพืชบางชนิดที่มีแมลงเป็นพาหะ เช่น โรคไวรัสในพืชผัก ไม้ดอกและไม้ผล ที่อาจมีแนวโน้มการระบาดรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย

มูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ขจัดปัญหาการปลูกพืชเสพติด พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวเขา ให้มีความอยู่ดี กินดี รวมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย และมีความมั่นคง ด้วยการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัยที่เน้นการใช้ชีวภัณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตกว่า 12,311 ราย พื้นที่ 36,557.39 ไร่ ในพื้นที่ 39 ศูนย์ฯ/สถานีฯ (ข้อมูลปี 2566) ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานส่งเสริมการผลิตพืชบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) จึงได้จัดประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤตโลกร้อน…ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้อง จากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การหมาขน) และมูลนิธิโครงการหลวง ในการป้องกันความเสี่ยงของภาวะโลกร้อนต่อการจัดการศัตรูพืชบนพื้นที่สูง


ภาพที่ 4 การประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “วิกฤตโลกร้อน…ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน”

วันที่ 8 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ

โดยที่ประชุมได้เสนอแนวทางการดำเนินงาน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการรับมือในการจัดการศัตรูพืช ดังนี้

  1. การพัฒนาระบบการติดตามการเปลี่ยนแปลงประชากรและการแพร่กระจายของศัตรูพืช (Monitoring Abundance and Distribution) ที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูพืช
  2. การพัฒนาเทคนิค เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตพืช เช่น การใช้โครน การปรับปรุงพันธุ์rพืชและการประยุกต์ใช้หลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrated Pest Management: IPM) ที่เน้นการจัดการพืช ดิน น้ำ ธาตุอาหารและศัตรูพืชที่เหมาะสม
  3. การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของศัตรูพืชในสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม วงจรชีวิตของศัตรูพืชและความต้านทานสารกำจัดศัตรูพืชของแมลงที่สำคัญ (Insect Resistance management: IRM) รวมทั้งศัตรูพืชอุบัติใหม่ในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง
  4. การพยากรณ์อากาศและการพัฒนาแบบจำลองการพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืชบนพื้นที่สูง
  5. การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อบูรณาการงานในด้านต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ควรเร่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และพฤติกรรมของศัตรูพืชภายใต้ภาวะโลกร้อน อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการคาดการณ์แนวโน้มการระบาดและพัฒนามาตรการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดี อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการจัดการศัตรูพืชที่เป็นสากล


ภาพที่ 5 กับดักแมลงเพื่อใช้ติดตามประชากรและการแพร่กระจายแมลง

นอกจากนี้ องค์กรและ/หรือผู้นำชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ควรร่วมกันสร้างความตระหนักรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย ผ่านกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อให้เกิดการยอมรับองค์ความรู้ใหม่และนำไปสู่การปฏิบัติ ที่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของศัตรูพืชในวิกฤตโลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผลิตผลของมูลนิธิโครงการหลวงมีคุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัย

เอกสารอ้างอิง:

พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, “ผลกระทบและสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในภาวะโลกร้อน” ประชุมเสวนาวิชาการเรื่อง วิกฤตโลกร้อน..ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน, วันที่ 8 มีนาคม 2567, ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ, หน้า 1-19.
วิษณุ อรรถวานิช, “ ภาวะโลกร้อน....ผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทย”, ประชุมเสวนาวิชาการเรื่อง วิกฤตโลกร้อน..ต่อการเกษตรบนพื้นที่สูงและการอารักขาพืชที่ยั่งยืน, วันที่ 8 มีนาคม 2567, ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ.