ไม้ดอกประเภทหัว ดอกไม้สวย ...บนดอยสูง

เมื่อกล่าวถึง ดอกไม้โครงการหลวง แน่นอนว่าหลายๆ คน คงนึกถึงดอกไม้เมืองหนาวจากต่างประเทศนานาชนิด ที่มีสีสันสวยงาม และรูปลักษณ์แปลกตา ดอกไม้ที่หลายๆ คนรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบ เบญจมาศ ไฮเดรนเยีย เจอบีร่า หรือจิ๊ปซอฟฟิล่า แต่ก็มีดอกไม้อีกกลุ่มหนึ่งที่มีรูปลักษณ์ที่แปลกตา สีสันสดใสสวยงาม ไม่ค่อยพบเห็นปลูกกันทั่วไป อาทิเช่น กลอริโอซา(ดองดึง) แคลล่าลิลี่ ปักษาสวรรค์ ว่านสี่ทิศ ยูโคมิส ลิอะทริส ทิวลิป แดฟโฟดิว อะกาแพนทัส อัลสโตรมีเรีย และออนิโทกาลัม เป็นต้น ดอกไม้เหล่านี้ถ้ามองเพียงรูปลักษณ์ที่ปรากฏ ก็อาจจะดูไม่แตกต่างจากดอกไม้ทั่วไปมากนัก แต่จะมีใครรู้บ้างว่า ดอกไม้เหล่านี้มีความพิเศษแตกต่างจากดอกไม้ทั่วไป ตรงที่มี “หัว” หน้าตาแปลกๆ แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของดอกไม้ ซ่อนอยู่ใต้ดิน แล้วหัวเหล่านี้มีความสำคัญยังไง พิเศษตรงไหน เรามาทำความรู้จักไม้ดอกประเภทหัวเหล่านี้กันเถอะ

ไม้ดอกประเภทหัว เป็นกลุ่มไม้ดอกที่แยกออกมาจากไม้ดอกโดยทั่วไป มีทั้งพวกที่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและพืชใบเลี้ยงคู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว โดยใช้ความแตกต่างในลักษณะของโครงสร้างของต้นพืชและลักษณะของการเจริญเติบโตมาแยกกลุ่ม ส่วนในด้านของลักษณะการใช้ประโยชน์นั้นเหมือนกันกับไม้ดอกโดยทั่วไป คือ ใช้ได้ทั้งเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้สนาม

โครงสร้างของไม้ดอกประเภทหัว แตกต่างจากไม้ดอกโดยทั่วไป ตรงที่มีอวัยวะเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งอย่าง คือ “หัว” ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้นพืชสร้างขึ้น เพื่อเก็บสะสมอาหารและน้ำสำหรับการเจริญเติบโตในฤดูกาลใหม่

หัว ของไม้ดอกประเภทหัว เป็นโครงสร้างที่แปรรูปมาจากส่วนโคนของลำต้นใต้ดินหรือราก ไม้ดอกประเภทหัวบางชนิดนั้นส่วนที่แปรรูปไปเป็นหัวมีโคนใบแปรรูปเป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้นจึงแบ่งชนิดของหัวเหล่านั้นตามโครงสร้างของส่วนแปรรูปดังกล่าวออกได้เป็น 5 ชนิด ดังนี้

1. Bulb หรือ True bulb ส่วนที่เรียกว่าหัวเป็นส่วนโคนใบที่โป่งพองออกเพื่อสะสมอาหาร มีลักษณะเหมือนหัวหอมและหัวกระทียม ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ ออนิโทกาลัม (Ornithogalum) ว่านสี่ทิศ (Hippeastrum) และลิลลี่ (Lilium) เป็นต้น

2. Tuber เป็นส่วนลำต้นสะสมอาหารใต้ดิน มีตาเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะกลม กลมรี หรือกลมแบน เหมือนหัวมันฝรั่ง และหัวบุก ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ ซ่อนกลิ่น (Polianthes) บอนสี (Caladium) ไซคลาเมน (Cyclamen) และบีโกเนีย (Begonia) เป็นต้น

3. Corm เป็นส่วนของลำต้น มีลักษณะกลม เห็นส่วนที่เป็นข้อและปล้องชัดเจน เหมือนหัวแห้วและหัวเผือก ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ แกลดิโอลัส (Gladiolus) และฟรีเซีย (Freesia) เป็นต้น

4. Rhizome เป็นลำต้นที่เจริญขนานไปกับผิวดิน มีข้อปล้อง เรียกว่า เหง้า ที่แตกสาขาได้เหมือนแง่งขิงและข่า และในบางพืชมีส่วนของโคนรากแปรรูปมาประกอบด้วย (Tuberous rhizome) เหมือนเหง้ากระชาย ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ แคลล่าลิลี่ (Zanthedeschia) ปทุมมา (Curcuma) และหงส์เหิน (Globba) เป็นต้น

5. Tuberous root เป็นส่วนของรากสะสมอาหารที่มีลักษณะกลมป้อม หรือยาวรี อาจจะเป็นหัวเดี่ยวเหมือนหัวแครอท และหัวไชเท้า หรือเป็นหัวกระจุกเหมือนหัวดอกรักเร่ (Dahlia) ไม้ดอกที่มีหัวแบบนี้ ได้แก่ ดองดึง (Gloriosa) และอัลสโตรมีเรีย (Alstroemeria) เป็นต้น

ลักษณะการเจริญเติบโต ไม้ดอกประเภทหัวมีลักษณะการเจริญเติบโตแตกต่างจากไม้ดอกโดยทั่วไป ตรงที่มีการเจริญเติบโตเป็นวงจร นั่นคือ ใน 1 ปีมี 1 วงจรการเจริญเติบโต การเจริญเติบโตในแต่ละวงจรนั้นประกอบด้วยการเจริญเติบโตของต้น (Vegetative Growth) และดอก (Reproductive Growth) สลับกับการพักตัวของหัว (Dormancy) โดยทั่วไปใน 1 ปี จะมีการเจริญเติบโตของต้น หัว และดอก เป็นเวลา 8-9 เดือน หลังจากนั้นหัวจะพักตัว 3-4 เดือน เป็นวัฎจักร ในลักษณะของพืชล้มลุกหลายฤดู (herbaceous perennial)


วงจรการเจริญเติบโตของทิวลิป

การปลูกเลี้ยง ไม้ดอกประเภทหัวมีมากมายหลายชนิด มีทั้งไม้ดอกประเภทหัวเขตหนาว (temperate flower bulbs) และไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อน (tropical flower bulbs) แต่เนื่องจากในเขตหนาวมีการใช้ประโยชน์ไม้ดอกประเภทหัวมาเป็นเวลานานและใช้กันอย่างกว้างขวาง ไม้ดอกประเภทหัวเขตหนาวจึงเป็นที่รู้จักมากกว่าไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อน ไม้ดอกเหล่านั้นได้แก่ ทิวลิป (Tulipa) นาร์ซิสซัส (Narcissus) ลิลลี่ (Lilium) อัลสโตรมีเรีย (Alstroemeria) ไอริส (Iris) ออนิโทกาลัม (Ornithogalum) ลิอะทริส (Liatris) ฟรีเซีย (Freesia) แกลดิโอลัส (Gladiolus) ไซคลาเมน (Cyclamen) และว่านสี่ทิศ (Hippeastrum) เป็นต้น ส่วนไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อนนั้นยังรู้จักและใช้ประโยชน์กันน้อย เช่น ว่านแสงอาทิตย์ (Haemanthus) ว่านมหาลาภ (Eucrosia) ว่านนางคุ้ม (Eurycles) ว่านมหาโชค (Eucharis) ดาหลา (Etlingera) กระเจียวและปทุมมา (Curcuma) ซ่อนกลิ่น (Polianthes) หงส์เหิน (Globba) และดองดึง (Gloriosa) เป็นต้น

ไม้ดอกที่กล่าวถึงนี้ ถ้าเป็นไม้เขตร้อนสามารถปลูกเลี้ยงได้ทั่วประเทศ แต่ถ้าเป็นไม้เขตหนาวบางชนิดสามารถปลูกเลี้ยงได้บนที่สูงของประเทศเนื่องจากเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศเย็น

สำหรับการปลูกเลี้ยงไม้ดอกประเภทหัว ใช้วิธีการปลูกเลี้ยงเหมือนไม้ดอกทั่วไป แต่แตกต่างกันตรงที่ใช้หัวเป็นส่วนขยายพันธุ์แทนเมล็ด การปลูกให้ได้ผลดีให้ปลูกจากหัว และมีข้อควรระวังคือ ต้องตรวจสอบว่าหัวที่ใช้ปลูกหมดระยะพักตัวแล้ว นอกจากนั้นแล้วควรจะต้องใช้เครื่องปลูกที่ระบายน้ำดี เพราะหัวเน่าง่าย ไม้ดอกประเภทหัวบางชนิดต้องการการพรางแสงในการเจริญเติบโต

การใช้ประโยชน์ ไม้ดอกประเภทหัวนั้น ประเทศในเขตอบอุ่นของยุโรปและอเมริกาใช้ประโยชน์ ไม้ดอกกลุ่มนี้กว้างขวางมาก ใช้ทั้งเป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และไม้สนาม แต่ในประเทศไทยการใช้ประโยชน์ค่อนข้างจำกัด มักจะเป็นการใช้เพื่อตัดดอกเป็นส่วนใหญ่ และมักจะนิยมไม้ดอกประเภทหัวเขตหนาวเสียเป็นส่วนมาก ส่วนไม้ดอกประเภทหัวเขตร้อนซึ่งมีความสวยงามไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนั้น เพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อไม่นานนี้เอง


การนำไม้ดอกประเภทหัวไปใช้ในรูปแบบต่างๆ

เอกสารอ้างอิง:

De Hertogh A.A. and M. Le Nard (eds.). 1993. The Physiology of Flower Bulbs. Elsevier, Amsterdam. 811 p.
Hartman, T.H., A.M. Kofranek, V.E. Rubatzky and J.W. Flocker. 1988. Plant Science. Prentice Hall, New Jersey. 647 p.