พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณารับพื้นที่บ้านเลอตอ จังหวัดตาก เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัย และให้มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เพื่อความยั่งยืน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2559 สืบเนื่องจากพื้นที่บ้านเลอตอเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงห่างไกล ทุรกันดาร และเป็นพื้นที่ที่ปลูกฝิ่นมากที่สุดในประเทศไทย แต่ด้วยการตัดต้นฝิ่นของทางการไม่ยั่งยืน มูลนิธิโครงการหลวงจึงเข้าไปช่วยโดยปฏิบัติตามแนวทางพระราชทานในการแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่โครงการหลวง และพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการหลวง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ระมาด ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ 6 หมู่บ้าน 25 หย่อมบ้าน 2,536 ครัวเรือน ประชากร 7,476 คน ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 800-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ 8 สาย และลำห้วยไม่มีชื่อ 2 สาย แหล่งน้ำเพื่อใช้ในครัวเรือนและการเกษตร ได้แก่ ประปาภูเขา และระบบส่งน้ำของกรมชลประทาน มีฝนตกชุกเกือบทั้งปีประมาณ 8-9 เดือน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 1,100 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 23 องศาเซลเซียส
พื้นที่ปฏิบัติงาน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ตั้งสำนักงาน ณ บ้านเลอตอ และ หน่วยบ้านจ่อคี
1. กำหนดนโยบายเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น
จัดตั้งศูนย์ฯ เลอตอ และกำกับ ติดตามเพื่อลดปัญหาผู้เสพติดในพื้นที่ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. โรงพยาบาลแม่ระมาด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น
2. จัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
จัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก) โดยสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน และขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตามกฎหมายกับกรมป่าไม้ ตามมาตรา 19 และ มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พื้นที่ 129,849 ไร่
3. จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เพื่อความยั่งยืน (พ.ศ. 2565-2570)
เพื่อเป็นกรอบการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เป็นต้นแบบของการจัดทำแผนการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านปัจจัยพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยมีเป้าหมาย คือ ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มีผลลัพธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีมูลค่าเพิ่มสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด สมาชิกสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยมากขึ้น เกิดการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ และเกิดกลไกเพื่อการพัฒนาตนเองทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมขึ้นในชุมชน
4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเริมอาชีพและคุณภาพชีวิต
4.1 พัฒนาเส้นทางขนส่งผลผลิต โดยกรมทางหลวงชนบท เชื่อมโยงพื้นที่เลอตอจากพื้นที่อำเภอแม่ระมาดถึงอำเภออมก๋อย รวมระยะทาง 74 กิโลเมตร สามารถคมนาคมได้อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาการเดินทางจากศูนย์ฯ เลอตอไปยังอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก และลดระยะเวลาเดินทางจาก ศูนย์ฯ เลอตอไปยังอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
4.2 ไฟฟ้า ดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าแล้ว 7 หย่อมบ้าน ตามแนวเขตถนน และอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการขยายเขตไฟฟ้าเพิ่มในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 6 หย่อมบ้าน
4.3 แหล่งน้ำ ก่อสร้างบ่อพักน้ำและระบบส่งน้ำ โดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อส่งน้ำไปยังกลุ่มบ้านต่าง ๆ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่หินหลวงน้อย โดยกรมชลประทาน เพื่อเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภค บริโภคของราษฎรบริเวณใกล้เคียง สำรวจและขุดเจาะน้ำบาดาล โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล และบ่อกักเก็บน้ำ (ธนาคารน้ำใต้ดิน) โดย นพค.33
4.4 พัฒนาด้านการสื่อสาร โดยสำนักงาน กสทช. สนับสนุนการติดตั้งจุดทวนสัญญาณวิทยุสื่อสารในพื้นที่ศูนย์ฯ เลอตอ และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนการขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าสู่พื้นที่ศูนย์ฯ เลอตอ
4.5 พัฒนาปัจจัยพื้นฐานภายในที่ตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการ ฐานส่งกำลังบำรุง สถานที่ฝึกอบรมภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ ฝึกอบรม และสาธิตเป็นตัวอย่างให้แก่ประชาชนในพื้นที่และผู้สนใจเรียนรู้งานโครงการหลวง
5. พัฒนาด้านเศรษฐกิจ
5.1 จัดทำแปลงสาธิต เพื่อเป็นตัวอย่างที่เป็นที่ประจักษ์ให้เกษตรกรเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ โดยพัฒนาแปลงสาธิตที่ตั้งศูนย์ฯ บ้านเลอตอ เป็นแปลงสาธิตการปลูกไม้ผล พืชผัก และกาแฟร่วมกับป่าไม้ และพัฒนาแปลงสาธิตบริเวณอาคารคัดบรรจุบ้านจ่อคี เป็นแปลงสาธิตการปลูกพืชผัก พืชไร่ และป่าชาวบ้าน รวมทั้งเป็นแปลงสำหรับการวิจัยและทดสอบพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ก่อนนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก
5.2 ส่งเสริมอาชีพภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย แก่เกษตรกร 225 ราย เพาะปลูกพืชผัก ไม้ผล กาแฟ และพืชไร่ เป็นอาชีพทางเลือกทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง โดยสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท/ปี
5.3 ส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร โดยพัฒนางานหัตถกรรม นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ย้อมสีผ้า และพัฒนาเป็นเครื่องแต่งกายประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงย้อมสีธรรมชาติ นอกจากนี้ยกระดับกระบวนแปรรูปเสาวรส กล้วย ขิง กระชาย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ให้กับกลุ่มเยาวชนและและสตรีบ้านเลอตอ
6. พัฒนาด้านสังคมและชุมชน
มุ่งเน้นการพัฒนาคนทุกระดับในชุมชน กลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มสตรี โดยเฉพาะเยาวชนในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป โดยดำเนินการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ร่วมกับ ปปส. ภาค 6 ฝึกอบรมให้ความรู้การเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)
จัดตั้งกลุ่มเตรียมสหกรณ์ อบรมให้ความรู้และพัฒนางานหัตกรรมผ้าทอกระเหรี่ยงสีย้อมธรรมชาติ ฝึกอบรมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเป็นรายได้เสริม พัฒนาเยาวชนในโรงเรียน 9 แห่ง ตามโครงการ 1 โรงเรือน และพัฒนาเยาวชนนอกโรงเรียน กิจกรรมแข่งกีฬา ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. เพื่อเสริมสร้างให้เยาวชนรู้รักสามัคคี รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนักรักสิ่งแวดล้อมโดยสร้างฝายชะลอน้ำ
7. พัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการสวมหมวกให้ดอยซึ่งเป็นการปลูกพืชในระบบวนเกษตรโรงเรือนแลกป่าแลกเปลี่ยนกับการปล่อยพื้นที่ป่าเหล่า/พื้นที่โล่ง เกิดการฟื้นฟูในระยะ 2-3 ปี และเสริมไม้ที่เกษตรกรต้องการในภายหลัง เช่น กาแฟ บุก ตลอดจนการพัฒนาเยาวชน เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2565-2566 ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 350 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 106 ราย
8. พัฒนากลไกและกระบวนการพื้นที่ขับเคลื่อนตนเองในระยะยาว
การจัดทำแผนชุมชน ขับเคลื่อนการดำเนินการศูนย์ฯ เลอตอ ผ่านคณะทำงานระดับจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ