องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

 14 พ.ค. 2566 12:55   


วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนพฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ การประชุมครั้งนี้ องคมนตรีได้เป็นประธานรับมอบชุดผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากบริษัท วินด์ เอเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด โดย นายณัฐพศิน เชฎฐ์อุดมลาภ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชุดผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลัง 30 กิโลวัตต์ นี้ ติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารเทคโนโลยีชีวภาพ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ซึ่งเป็นอาคารปฏิบัติการผลิตต้นพันธุ์พืชปลอดโรคกระจายแก่เกษตรกร ทำให้ประหยัดไฟฟ้าของอาคารได้ถึง 54,750 หน่วย ต่อปี และยังช่วยลดต้นทุนในการจัดการ


จากการเป็นต้นแบบการวิจัยบนพื้นที่สูงของโครงการหลวง ผลงานวิจัยได้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างกว้างขวาง ขณะนี้แผนการดำเนินงานวิจัยพื้นที่สูง จะมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชน เพื่อผลักดันงานวิจัยที่สูงให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน แก้ปัญหาแก่ชุมชน และคุ้มค่าการลงทุน มีการปรับแผนงานตามระยะเวลา เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และความจำเป็น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือ ในด้านการพัฒนาการเกษตรและการส่งเสริมอาชีพพื้นฐานสำคัญของการสร้างผลผลิตคุณภาพคือ การปรับปรุงบำรุงดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินที่สูง ดำเนินการปรับปรุงดินกรดด้วยปูนโดโลไมท์ ส่งเสริมการนำวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ เศษผัก ผลไม้ วัชพืช ทำเป็นปุ๋ยบำรุงพืช พัฒนาระบบน้ำ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเกษตร อุปโภค และบริโภค นอกจากนี้ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนชนเผ่าเพื่อป้องกันยาเสพติดยังเป็นเรื่องสำคัญที่โครงการหลวงดำเนินการต่อเนื่อง ภายใต้โครงการวัคซีนวัยรุ่น โดยความร่วมมือของ ปปส. ภาค 5 มีการติดตามผลการดำเนินงานป้องกันยาเสพติด โดยผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติดที่ได้รับทุนประกอบอาชีพ จำนวน 5 รายประกอบด้วย ผู้เลี้ยงปลา มีความต้องการปลานิลเพิ่ม ผู้เลี้ยงสุกรต้องการต่อยอดความรู้ในการเลี้ยงสุกร และพัฒนาจากการเลี้ยงสุกรไปสู่การปลูกผัก กลุ่มสตรีมีความต้องการฝึกอาชีพการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาโวคาโด กล้วย ฟักทอง บ๊วย โดยศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ได้ต่อยอดการพัฒนาฝีมือทั้งในภาคการเกษตร ได้แก่ การผลิตสารชีวภัณฑ์ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์อบรมพัฒนาฝีมือช่างวิชาชีพช่างไฟฟ้า ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย การย้อมสีฝ้ายจากวัสดุธรรมชาติ ที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง การทำขนมเค้กฟักทอง ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก

  

ในบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรีได้ประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา เพื่อเตรียมการจัดงานโครงการหลวง 54 ระหว่างวันที่ 3 – 14 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ งานในครั้งนี้จะมีการเปิดตัวชาขาวสกัดเย็น Cold Brew ผลิตภัณฑ์ใหม่อีกชนิดหลังจากที่โครงการหลวงได้ออกผลิตภัณฑ์ชาเขียว และชาแดงสกัดเย็นมาแล้ว นอกจากนั้นยังมีไฮไลท์ คือ หัตถกรรมจากเส้นใยกัญชงผสมฝ้าย เอเดลไวส์กระถาง และผลิตภัณฑ์โลชั่นทาผิวป้องกันแสงแดดสกัดจากดอกเอเดลไวส์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่จากชุมชนโครงการหลวง ได้แก่ พลับหมาดจากโครงการหลวงแม่แฮ กัมมี่เยลลี่เสาวรส เม็ดเสาวรสจี๊ดจ้าด และเปลือกเสารสสามรสจากโครงการหลวงเลอตอ ก่อนเดินทางกลับ องคมนตรีได้ประชุมติดตามงานด้านประมงบนพื้นที่สูง โดยการสนับสนุนของกรมชลประทาน ซึ่งมีศูนย์วิจัยประมงบนพื้นที่สูงอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เขียงใหม่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียน ปลาเทร้าต์ สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงโครงการหลวงป่าเมี่ยง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ได้ตั้งขึ้นอีกแห่งเพื่อเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาเทร้าต์ จุดประสงค์หลักของการทำประมงบนพื้นที่สูงเพื่อเป็นการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงปลาจากต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากความเย็นของน้ำธรรมชาติบนพื้นที่สูง และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับรองคุณภาพความปลอดภัยของน้ำ ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ การชดเชยการนำเข้าสินค้าปลาจากต่างประเทศ เป็นการช่วยเศรษฐกิจของชาติ และส่งเสริมสุขภาพคนไทย

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ