องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

 22 ก.พ. 2567 22:31   


วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ในการประชุมครั้งนี้ องคมนตรีได้เน้นย้ำแก่ผู้ร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงาน คณะทำงานอาสาสมัครโครงการหลวง และผู้ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง ให้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ไปสู่จุดหมายของความยั่งยืน เนื่องด้วยเป็นงานสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงประเทศ

 

จากปัญหาราษฎรบนพื้นที่สูงยากจน ทำการเกษตรแบบผิดวิธี ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม โครงการหลวงจึงถือกำเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การเห็นตัวอย่างความสำเร็จในจุดเล็ก ๆ การพัฒนาได้ขยายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว รัฐบาลจึงจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นองค์กรในรูปแบบองค์การมหาชน เพื่อสนับสนุนและขยายผลการพัฒนาตามแบบโครงการหลวงโมเดลไปในพื้นที่อื่น ปี พ.ศ.2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สืบสาน รักษา และต่อยอดงานของโครงการหลวง เพื่อสร้างประโยชน์ต่อเนื่องแก่ประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยทรงดำรงตำแหน่งองค์นายกกิตติมศักดิ์ เนื่องในปีนี้เป็นมหามงคล มูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานสนับสนุน ตั้งเป้าการดำเนินงานสนองพระบรมราโชบาย สืบสานการสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ปวงชนชาวไทยอย่างต่อเนื่องตามภารกิจของหน่วยงาน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงมีพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง หน่วยงานสนับสนุนหลักได้สนองนโยบายโดยวางแผนกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ พัฒนาชุมชนสู่ความเข้มแข็ง พร้อมไปกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มุ่งดำเนินการวิจัยสิ่งใหม่ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาอาชีพ พร้อมไปกับการส่งเสริมการเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้โครงการหลวง ตามเป้าหมายการเป็นสถาบันการเรียนรู้บนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง สร้างประโยชน์ทั้งต่อชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานร่วมสนองในพระราชปณิธาน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนการแปรรูปชาอัสสัม ซึ่งเป็นชาพื้นถิ่นทางภาคเหนือ ให้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ และร่วมกับหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนายกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการบนพื้นที่สูง ด้านการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมการขายและการตลาด พัฒนากระบวนการผลิตสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น ถอดแบบและเก็บรวบรวมลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน นำมาวางแผน สร้างไอเดียการออกแบบผลิตภัณฑ์บนฐานอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยดิจิทัล ผลสำเร็จที่เห็นประจักษ์ ได้แก่ ชุมชนดาวม่าง ซึ่งเป็นกลุ่มหัตถกรรมที่โดดเด่นในการแปรรูปเส้นใยกัญชงสู่การทอผ้าใยกัญชง ด้วยเอกลักษณ์ลวดลายชนเผ่าม้ง นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินสงเคราะห์แก่ครอบครัวยากจนในพื้นที่โครงการหลวง 18 ราย และผู้มีรายได้น้อย 19 ราย ด้านการส่งเสริมกลุ่มเยาวชนพื้นที่สูงให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมด้วยดี ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติด โดยสำนักงาน ปปส.ภาค ๕ จัดให้ความรู้การป้องกันยาเสพติด พัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนภายใต้โครงการวัคซีนวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนเยาวชนในโครงการรวม 120 คน รวมทั้งมอบทุนประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก เพิ่มจำนวน 2 ราย เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิต มีอาชีพ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างยั่งยืน และด้วยประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน องคมนตรีจึงให้ทุกพื้นที่ดำเนินการเร่งสำรวจปริมาณน้ำ ปรับกระบวนการทำการเกษตร และการใช้น้ำอย่างเหมาะสม โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ สอดรับการดำเนินการปรับปรุงสถานีตรวจวัดอากาศในพื้นที่โครงการหลวง ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ มีข้อมูลเข้าระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนการเกษตรอย่างเหมาะสม สอดรับแนวทางโครงการหลวงโมเดล ในการปรับประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน

  

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ