องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงปางดะ

 28 ก.พ. 2567 10:59   


วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ 1 ใน 4 สถานีวิจัยของโครงการหลวง เริ่มดำเนินงานหลักคือ การขยายพันธุ์ไม้ผลเขตหนาว เมื่อ พ.ศ. 2522 ด้วยพื้นที่ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นสถานีวิจัยและขยายพันธุ์พืชแห่งเดียวของโครงการหลวงสมัยนั้น ตั้งอยู่ในจุดที่อากาศหนาวเย็น ทำให้ช่วงฤดูหนาวไม้ผลเขตหนาวซึ่งเป็นพืชสำคัญในการส่งเสริมอาชีพทดแทนฝิ่นเกิดการพักตัว ไม่สามารถดำเนินงานขยายพันธุ์พืชได้ทันความต้องการ โครงการหลวงจึงขอใช้พื้นที่ของสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเขตหนาวสะเมิง กรมวิชาการเกษตร เป็นที่ดำเนินการ ต่อมา พ.ศ.2526 การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโครงการพระราชดำริห้วยปลาก้างแล้วเสร็จ ประกอบกับความต้องการใช้ต้นกล้าพันธุ์พืชเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ผลิตเดิมไม่เพียงพอ จึงย้ายไปยังพื้นที่ที่ติดกับอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิตพืช และตั้งชื่อว่า ศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวง ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อใหม่ว่า “สถานีเกษตรหลวงปางดะ” และมีพระราชดำรัสให้ดำเนินการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้แก่ราษฎรในชุมชนสะเมิง นอกเหนือจากการดำเนินการวิจัย ทดสอบ สาธิต และผลิตพันธุพืช สถานีฯ ปางดะจึงเริ่มดำเนินการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านแม่แพะ ซึ่งเป็นชุมชนคนเมืองเป็นแห่งแรก แต่ด้วยพื้นที่ห่างไกลจากุดที่ตั้งสถานีค่อนข้างมาก ต่อมาจึงได้แยกออกเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ ในปัจจุบันสถานีฯ ปางดะ ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 16 หมู่บ้าน 3 ตำบล ประชากร เป็นกลุ่มคนพื้นเมือง และไทยลื้อ รวม 1,807 ครัวเรือน 4,424 คน

 

การดำเนินงานทดสอบ สาธิต ปรับปรุงและขยายพันธุ์พืช เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง 39 แห่ง ของสถานีฯ ปางดะ ที่สำคัญขณะนี้ ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศ การศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตเมล็ดข้าวโพดป๊อปคอร์น การวิจัยและพัฒนากัญชงครบวงจร เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ภายใต้ BCG model การทดสอบและคัดเลือกพันธุ์พืชพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้แก่ ถั่วแขก มะเขือเทศ มะเขือม่วง แก้วมังกร ขนุน และ ราสพ์เบอร์รี นอกจากนี้ ยังรวบรวมและรักษาพันธุ์ไม้ผล 10 ชนิด 245 พันธุ์ มันเทศ 35 พันธุ์ และชา 8 พันธุ์ ในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย พืชที่สร้างรายได้หลักแก่เกษตรกร ได้แก่ ข้าวโพดหวานสองสี สีม่วง สีขาว ผักกาดขาวปลี ถั่ว และอาโวคาโด ทำให้เกษตรกรภายใต้การส่งเสริมของสถานีฯ ปางดะ มีรายได้เฉลี่ย 74.000 บาท/ปี 

ในการนี้ องคมนตรียังได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ด้านป่าไม้และไผ่ ซึ่งโครงการหลวงได้นำไม้โตเร็วและไผ่จากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มาขยายในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเป็นต้นแบบการปลูกไผ่ในเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากไม้ การเผาถ่าน และผลิตน้ำส้มควันไม้ เพื่อการเรียนรู้ สนองในพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องคมนตรีมอบนโยบายการจัดทำฝายเพื่อดักตะกอนและชะลอน้ำ โดยมอบให้หน่วยงานชลประทานนำไปพิจารณา รวมทั้งการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยปลาก้าง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ และไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อขยายพื้นที่จัดสร้างอ่าง นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งฟาร์มสาธิตการเลี้ยงไข่ไก่อินทรีย์ บนพื้นที่ที่ได้การรับรองมาตรฐานอินทรีย์ จำนวน 30 ไร่ ไก่ไข่ที่นำมาเลี้ยงเป็นสายพันธุ์เล็กฮอรน์ขาวหงอนจักร ให้ผลผลิตไข่สีขาว แต่ด้วยพันธุ์ไก่ไข่ในปัจจุบันมีอัตราเลือดชิด ส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพไข่ โครงการหลวงจึงดำเนินการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ ในระยะ 4 ปี ที่ผ่านมา ไข่ไก่อินทรีย์จากฟาร์มมีปริมาณรวม 57,693 ฟอง คิดเป็นมูลค่ากว่าห้าแสนห้าหมื่นบาท และฟาร์มแห่งนี้ยังได้รับคัดเลือกเป็นฟาร์มต้นแบบปศุสัตว์อินทรีย์ BCG model จากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันโครงการหลวงมีนโยบายการดำเนินงานฟาร์มวิจัยและพัฒนาปศุสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ไก่กระดูกดำขนดำ และไก่ฟ้าคอแหวน สามารถเป็นได้ทั้งอาหารในครัวเรือน จำหน่าย และนำมูลเป็นปู่ยบำรุงดิน และใช้เป็นพลังงานในครัวเรือน อีกทั้งยังมีการต่อยอดการพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ด้วยเศษผักเหลือจากกระบวนการผลิต พร้อมศึกษาการปลูกข้าวโพดอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ขยายสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์อีกด้วย



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ