องคมนตรี ตรวจเยี่ยมและติดตามงานพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

 29 ก.พ. 2567 01:01   


วันที่ 25 ก.พ. 67 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ประชุมติดตามความคืบหน้าการดําเนินงานของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอำเภอฝาง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสนับสนุน รวมทั้งบุคลากรของมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมการประชุม องคมนตรีได้รับฟังรายงานความเป็นมาของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีวิจัยแห่งแรกของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 55 ปี ถือกำเนิดขึ้นจากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านผักไผ่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทอดพระเนตรเห็นว่าบริเวณดอยอ่างขางเป็นเขาหัวโล้น มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก ราษฎรชนเผ่าที่อาศัยอยู่มีฐานะยากจน ประกอบกับเขตที่ตั้งอยู่ในแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งถือเป็นแนวปราการความมั่นคงของประเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๑,๕๐๐ บาท แลกเป็นค่าต้นไม้ในที่ดินที่ชนเผ่าปลูกพืช เพื่อใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งไม้ผล ผัก และไม้ดอก ต่อมาได้พระราชทานชื่อสถานีแห่งนี้ว่า “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ดำเนินการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานวิจัยไม้ผลเขตหนาว ผัก ไม้ดอก งานขยายพันธุ์พืชเพื่อขยายผลสู่การส่งเสริมอาชีพในพื้นที่โครงการหลวงแห่งอื่น ๆ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชนเผ่าโดยรอบสถานี พืชส่งเสริมสำคัญ ได้แก่ ผักอินทรีย์ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 88 และ 89 ปัจจุบันการดำเนินงานของสถานีฯ อ่างขาง ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน 3 ตำบล ประชากรเป็นชาวลาหู่ ดาราอั้ง จีนยูนนาน และ ไทใหญ่ รวม 1,325 ครัวเรือน 7,352 คน

 

ในการนี้ องคมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่วิจัย ทดสอบ สาธิต และรวบรวมพันธุ์พืชเขตหนาวต่าง ๆ ได้แก่ สวนแปดสิบ ซึ่งรวมพันธุ์พืชไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวไว้กว่า 40 สายพันธุ์ และยังมีต้นซากุระญี่ปุ่นอีกกว่า 1,500 ต้น ซึ่งมีอายุกว่า 15 ปี ออกดอกสวยงามในเดือนมกราคม จึงเป็นจุดท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้และชมความสวยงามอันดับต้น ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีสวนบ๊วย ซึ่งเป็นแปลงบ๊วยในยุคแรกของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2517 จะออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และจะเก็บผลผลิตในเดือนมีนาคม – เมษายน องคมนตรีได้ติดตามความก้าวหน้าของการปรับปรุงพันธ์พืชพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้รับพระราชทานพันธุ์พืช และอุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อปีพ.ศ.2565 และได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 5 แห่ง รวมทั้งได้รักษาพันธุ์อีกส่วนหนึ่งไว้ที่ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ผลจากการทดสอบการปลูกและขยายพันธุ์พืชหลายชนิด สามารถเพิ่มปริมาณพันธุ์ได้จำนวนหนึ่ง โครงการหลวงจึงได้นำไปรวบรวมไว้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวม และจัดแสดงพันธุ์พืชเขตหนาวเพื่อการเรียนรู้แก่ประชาชนที่เข้าไปเยี่ยมชมสถานีฯ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานชื่อโรงเรือนแห่งนี้ว่า “สิริวัณณวรี Botanical Garden” โดยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565

 สถานีเกษตรหลวงอ่างขางยังถือเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าคุณภาพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป โดยได้ส่งเสริมการปลูกกาแฟมาตั้งแต่ปี 2562 จำนวนเกษตรกร 85 ราย ในพื้นที่ 405.75 ไร่ โดยกาแฟเริ่มให้ผลผลิตเมื่อปี 2565 สามารถเก็บผลผลิตกาแฟเชอร์รี่ มาแปรรูปด้วยวิธี Honey Process ได้แล้ว ในด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมชนเผ่า ได้อบรมให้ความรู้และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหญ้าอิบุแคหญ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของชนเผ่าลาหู่บ้านขอบด้ง รวมทั้งเพิ่มทักษะการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ แก่ชนเผ่าดาราอั้ง หมู่บ้านนอแล ในด้านสิ่งแวดล้อม สถานี ฯ อ่างขาง ได้นําพันธุ์ไม้โตเร็วต่างถิ่นมาปลูกเพื่อฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบ จนทําให้สภาพดอยหัวโล้นในอดีตกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานสนับสนุน รักษามาตรฐานการพัฒนาชุมชนโครงการหลวงคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยดำเนินโครงการรักษามาตรฐานและขยายผลสู่การเป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ชุมชนคาร์บอนต่ำ ขณะนี้ได้ดำเนินโครงการคาร์บอนยูนิตในสวนป่าสาธิตสถานีฯ อ่างขาง โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บข้อมูลการเติบโตทั้งด้านขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความสูง เพื่อนํามาประมาณหามวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และประเมินการกักเก็บคาร์บอน พบพรรณไม้พื้นเมืองทั้งหมด 64 ชนิด 31 วงศ์ มีปริมาณมวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนพบสูงสุดใน เมเปิลหอม รองลงมาคือ สนหนาม การบูร จันทร์ทองเทศ และกระถินดอย และมีอัตราการเพิ่มพูนเฉลี่ย รายปีของคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ค่อนข้างสม่ำเสมอในทุกชนิดไม้ ร่วมปลูกป่าในโครงการสวมหมวกให้ดอย โดยร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำนวน 238 ไร่ พืชที่ปลูกได้แก่ อาโวคาโด กาแฟ การบูร มะขามป้อม เมเปิ้ลหอม จันทร์ทองเทศ และนางพญาเสือโคร่ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงนับเป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญของมูลนิธิโครงการหลวง ในด้านการวิจัยพืชเขตหนาว การส่งเสริมการปลูกพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลเขตหนาวภายใต้ระบบการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างถูกต้องเหมาะสม และแบบอย่างของรูปแบบโครงการหลวงโมเดล (Royal Project Model) บนพื้นที่สูง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ยังพื้นที่สูงทั่วประเทศ และนานาชาติ





 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ