พระราชกรณียกิจสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

 13 มี.ค. 2567 07:24   


สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปยังสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2567 โดย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวง และหน่วยราชการในพื้นที่ เฝ้ารับเสด็จ โดยทรงประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้



วันที่ 8 มีนาคม 2567 ทอดพระเนตรพืชพันธุ์ที่พระราชทานแก่มูลนิธิโครงการหลวง ณ โรงเรือนสิริวัณณวรี Botanical Garden ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งภายในสถานีฯอ่างขาง ที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ ได้เข้าชมความหลากหลายของพันธุ์พืชสายพันธุ์ต่างประเทศ ที่ได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อปี พ.ศ.2565 โดยภายในโรงเรือนมีการจัดแสดงพันธุ์พืชพระราชทาน ทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม้ผล จำนวน 4 ชนิด 5 สายพันธุ์ กลุ่มพืชสมุนไพร จำนวน 5 ชนิด 11 สายพันธุ์ กลุ่มไม้ดอกเขตหนาว จำนวน 1 ชนิด 1 สายพันธุ์ และกลุ่มพืชผัก จำนวน 12 ชนิด 27 สายพันธุ์ โดยพันธุ์มะเขือเทศที่ได้รับพระราชทาน มูลนิธิฯได้นำออกจำหน่ายเพื่อทดลองตลาดแล้ว ยังได้ทอดพระเนตรและทรงตัดผักชนิดต่าง ๆ ในโรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเขตหนาวซึ่งมีกว่า 60 ชนิด ปลูกหมุนเวียนเพื่อเป็นจุดเรียนรู้แก่ผู้เข้าชมตลอดทั้งปี อาทิ ถั่วฟาว่า กะหล่ำดาว กะหล่ำโรมาเนสโก้ พริกแม็กซิกัน โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงนำไปประกอบอาหาร ในเมนูต่าง ๆ

 

วันที่ 9 มีนาคม 2567 เสด็จไปยัง แปลงรวบรวมพันธุ์สตรอว์เบอร์รี มูลนิธิโครงการหลวงได้ทำการวิจัยและรวบรวมพันธุ์กว่า 23 สายพันธุ์ ทรงเก็บผลสตรอว์เบอร์รี พันธุ์พระราชทาน 80 , 88 และ พันธุ์พระราชทาน 89 ซึ่งเป็นพันธุ์ล่าสุดที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพ.ศ. 2563 ผลมีขนาดใหญ่ ทรงกรวย สีแดงเข้ม กลิ่นหอม เนื้อแน่น ทนทานต่อการขนส่ง และมีสารต้านอนุมูลอิสระสารแอนโทไซยานินสูง สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป ปัจจุบันสถานีเกษตรกลวงอ่างขางได้ ส่งเสริมเกษตรกรชนเผ่า 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล และบ้านป่าคา รวมพื้นที่ 133 ไร่ เกษตรกร 138 ราย และในปี พ.ศ. 2566 สามารถสร้างรายได้กว่าเจ็ดล้านสามแสนบาท ในการนี้ยังได้ทอดพระเนตรต้นราสพ์เบอร์รี ที่พระราชทานให้แก่โครงการหลวงตั้งแต่ปี 2565 เพื่อทดสอบและขยายพันธุ์ ปัจจุบันได้ขยายต้นด้วยวิธีการแยกหน่อ จนมีจำนวน 100 กระถาง ซึ่งมีฤดูการเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายนถึงตุลาคม


บ่ายวันเดียวกัน ได้เสด็จไปยังสวนบ๊วย ซึ่งเป็นจุดรวบรวมต้นบ๊วยที่มีอายุถึง 50 ปี จำนวน28 ต้น ขณะนี้เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวบ๊วย หนึ่งในไม้ผลส่งเสริมอาชีพทดแทนฝิ่น ทอดพระเนตรกระบวนการกลั่นน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ ช่วยในด้านการผ่อนคลาย พร้อมทั้งยังมี ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว บำรุงเส้นผม และทำความสะอาดผิว การทำเรชิ่นจากดอกไม้แห้ง การทำน้ำปั่นจากพืชผักและผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี่ เคลปั่น ชาโมฮิโต ซึ่งเป็นเครื่องดื่มไฮบอลแบบดั้งเดิมของคิวบา ซึ่งมีส่วนประสมหลักคือ มินต์ สมุนไพรเขตหนาวที่ให้กลิ่นหอมสดชื่น โรงเรือนกุหลาบ ที่ได้วิจัยและทดสอบการปลูกกุหลาบเมืองหนาว และได้เก็บรวบรวมพันธุ์กุหลาบไว้ 4 กลุ่ม 50 สายพันธุ์ ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพันธุ์ อวาลานซ์ ,อีไลซ่า,รอยัลบัคคาร่า,ลาเพิร์ลล่า,มารีน่า,เมมโมรี่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 1,434,721 บาท ทรงตัดดอกกุหลาบ

วันที่ 10 มีนาคม 2567 เสด็จฯ ไปยังสวนแปดสิบ ฉายพระรูปร่วมกับประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง และเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ