คณะผู้แทนประเทศไทยจากมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด CND สมัยที่ 67 วันที่สอง

 17 มี.ค. 2567 15:35   


วันที่ 15 มีนาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วยคณะผู้แทนประเทศไทยจากมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เดินทางไปยังศูนย์ประชุมนานาชาติเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เป็นวันที่สอง โดยองคมนตรีและคณะได้ร่วมรับฟังการอภิปรายโต๊ะกลม ในหัวข้อ “แนวทางการ ดำเนินงาน: หนทางสู่สำเร็จในปี ค.ศ. 2029 (The way forward: the road to 2029)” ซึ่งผู้แทนของแต่ละประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานระยะต่อไป เพื่อการบรรลุสู่ผลสำเร็จตามปฏิญญารัฐมนตรี ที่ตั้งเป้าหมายในปี 2029 โดยที่มูลนิธิโครงการหลวงเป็นองค์กรที่ดำเนินการส่งเสริมพืชทดแทนฝิ่น สอดรับกับความท้าทายตามปฏิญญารัฐมนตรีข้อที่ 1 คือ การขยายตัวและกระจายความหลายหลากของตลาดยา และข้อที่ 2 คือ การปลูก การผลิต การลับลอบค้าสารเสพติด และยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้ดำเนินการตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาอาชีพที่สุจริต สร้างรายได้ที่มั่นคงทดแทนการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นต้นตอของยาเสพติดร้ายแรง และบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ


ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง ได้ร่วมประชุมหารือความร่วมมือทางวิชาการในระดับภูมิภาค กับคณะจากสำนักงาน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ซึ่งมีโครงการดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยผู้แทนยูเอ็นโอดีซี ประกอบด้วย นายมาซุด คาริมิพัวร์ ( Masood Karimipour) สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก พร้อมด้วย นายเทียร์รี่ โรลสตัน นางสาวลิลี่ ซาง และนายไรน์เนอร์ พังส์ โดยเมื่อ พ.ศ. 2556 ยูเอ็นโอดีซี ประจำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้ร้องขอความร่วมมือจากมูลนิธิโครงการหลวงสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาทางเลือกของยูเอ็นโอดีซี ประจำเมียนมาร์ ในพื้นที่รัฐฉาน โดยนำองค์ความรู้ของโครงการหลวงด้านการพัฒนาพืชทดแทนพืชเสพติด ไปประยุกต์ใช้ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน จำนวน 2 ฉบับ ในปี พ.ศ.2560 และ 2561 ประเด็นความร่วมมือเป็นการสนับสนุนการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดำเนินโครงการของยูเอ็นโอดีซี นักวิชาการจากโครงการหลวงได้เดินทางไปให้คำปรึกษา แนะนำเทคโนโลยีการปลูกผักในระบบโรงเรือน การทำระบบน้ำหยด สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผักและกิ่งพันธุ์ไม้ผลเขตหนาวให้เกษตรกร ให้คำปรึกษาและฝึกอบรมการผลิตและการขอรับรองกาแฟอินทรีย์และผักอินทรีย์ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกาแฟ ชาวเปรู ของยูเอ็นโอดีซีประจำเมียนมา ยังได้เดินทางมาฝึกอบรมและให้คำแนะนำด้านการผลิตกาแฟคุณภาพแก่เจ้าหน้าที่โครงการหลวง รวมทั้งมอบเมล็ดพันธุ์กาแฟเพื่อทดลองปลูกในพื้นที่โครงการหลวง และในการประชุม CND สมัยที่ 66 ในปีที่ผ่านมา ได้มีการหารือการจัดทำโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาทางเลือกในในระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศไทย โดยโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพ้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงาน UNODC ประจำเมียนมา และ สปป.ลาว โดยใช้หลักการ AD แก้ไขปัญหาร่วมของชุมชนในประเทศไทย เมียนมา และ สปป.ลาว อาทิ ปัญหาการปลูกพืชเสพติด ปัญหาหมอกควันและสิ่งแวดล้อม เพื่อกระชับความร่วมมือให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับการประชุมหารือร่วมกันในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานร่วมกันเป็นเวลา 2 ปี ในช่วงปี พ.ศ.2567-2568 โดยโครงการหลวงจะสนับสนุน ยูเอ็นโอดีซีประจำเมียนมา และ สปป.ลาว ใน 3 กิจกรรม ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรหญิง ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรม การส่งเสริมอาชีพ และการศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง การส่งเสริมการปลูกอาโวคาโดที่เมืองตองยี รัฐฉาน ในพื้นที่กว่า 1,100 เฮกตาร์ เพื่อให้คำแนะนำด้านพันธุ์ การขยายพันธุ์ การตลาด และการแปรรูป รวมทั้งยังสนับสนุนองค์ความรู้ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ สำหรับใช้ในแปลงกาแฟ ในฝั่งยูเอ็นโอดีซี ประจำเมียนมาร์ จะให้การสนับสนุนโครงการหลวง ใน 2 กิจกรรม ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพและพันธุ์กาแฟ โดยพัฒนาต่อยอดความร่วมมือให้เป็นไปตามความมุ่งมั่นของโครงการหลวงในการ ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ