องคมนตรีร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2567

 25 มี.ค. 2567 00:05   


วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 6/2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

โดยองคมนตรีได้พิจารณาแนวทางการสนับสนุนทางวิชาการกับกระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ ราชอาณาจักรภูฏาน ในความร่วมมือระหว่างกันนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 บุคลากรจากโครงการหลวงได้เดินทางไปช่วยจัดทำแปลงวิจัยและทดลองไม้ผล ณ สถานีวิจัยยูสิปัง ต่อมาในปี พ.ศ.2555 จึงจัดตั้งโครงการหลวงของราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวภูฏาน และมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ใน 2 ระยะ ซึ่งโครงการหลวงได้ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการจัดการดิน ธาตุอาหาร การสร้างโรงเรือนปลูกพืช นอกจากนี้ในด้านวิชาการได้เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างดีในการสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตไม้ดอก ทำให้ภูฏานสามารถลดการนำเข้าไม้ดอกจากต่างประเทศได้ รวมทั้งยังมีการสนับสนุนด้านพืชสวน ต้นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี อาโวคาโด การแปรรูป และการพัฒนาแผนผังภูมิทัศน์ ต่อมานักวิชาการโครงการหลวงได้ไปให้ความรู้เพิ่มเติมในด้านการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน และเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ภูฏานยังได้เดินทางมาศึกษาเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลา ณ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ การสนับสนุนในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต มีการวางแผนต่อยอดการสนับสนุนด้านการผลิตไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก เทคโนโลยีการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพพืชท้องถิ่นของภูฏาน เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ และการสนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เป็นความต้องการของภูฏาน ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นหนึ่งในนโยบายของโครงการหลวง สนองในพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอดงานของโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ และนานาชาติ โดยเฉพาะในปีสำคัญแห่งการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการหลวงได้ขับเคลื่อนการส่งเสริมการเรียนรู้งานโครงการหลวง ตามแนวทางการพัฒนาทางเลือกอย่างยั่งยืน ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ในการสร้างองค์ความรู้จากผลงานวิจัย ที่ตอบโจทย์ปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนบนพื้นที่สูง พร้อมขยายองค์ความรู้ และรูปแบบการพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เป้าหมายกลุ่มผู้เรียนรู้ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรต่างประเทศ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มประชาชนทั่วไป พร้อมสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่สูง


ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ได้เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวงประจำเดือนมีนาคม 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง องค์การมหาชน ได้รายงานผลลัพธ์ที่เห็นผลประจักษ์ในการผลิตพืชปลอดภัยภายใต้ระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทดแทนการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง 2,270 กลุ่มบ้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.98 ของพื้นที่สูงของประเทศ มีสถิติเกิดจุดความร้อนในช่วงมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เพียง 2,075 จุด จากจำนวน 20,926 จุด ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรที่สูงทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวอย่างของแนวทางในการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

หลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงาน องคมนตรีได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยโครงการหลวงได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืนของชุมชน กรอบระยะเวลาความร่วมมือ 10 ปี เป็นการพัฒนาต้นแบบพื้นที่เกษตร-ป่าไม้ยั่งยืนด้วยการปลูกป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่ป่าถาวร และสร้างรายได้จากการอนุรักษ์ผืนป่าด้วยคาร์บอนเครดิต สอดรับนโยบาย กฟผ.ที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นไม้ไว้เป็นไม้ใช้สอยในครัวเรือน ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชยืนต้นที่ให้ผลผลิตระยะยาว ใช้แรงงานน้อย การดำเนินงานในระยะ 2 ปี ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวม 1,640.88 ไร่ สำหรับในปีนี้ มีแผนการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายอีก 931.47 ไร่ และเตรียมพร้อมสู่การประเมินคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ หรือ T-VER Farming โดยคัดเลือกพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน และห้วยน้ำขุ่น จังหวัดเชียงราย เป็นต้นแบบของการศึกษา


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ