องคมนตรีติดตามความก้าวหน้าการขยายบ่อเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทร้าต์ ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง

 02 พ.ค. 2567 05:46   

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และกาแฟอะราบิกา โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านปางบง พระราชทานพระราชทรัพย์ 300,000 บาท เป็นทุนก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ด้วยทรงทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรผู้ปลูกชาเมี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากราคาเมี่ยงตกต่ำ โครงการหลวงป่าเมี่ยงจึงดำเนินการโดยพัฒนาพืชทางเลือกอื่นที่มีราคาสูงมาทดแทน ได้แก่ เห็ดหอม และกาแฟ อาราบิกา

ปัจจุบันการปฏิบัติงานของโครงการหลวงป่าเมี่ยงครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 101,875 ไร่ ราษฎรที่ได้รับประโยชน์รวม 13 กลุ่มบ้าน 1,072 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ลาหู่ และชนพื้นเมือง โครงการหลวงป่าเมี่ยงได้น้อมนำแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการแก้ไขที่ตรงประเด็นปัญหา และพัฒนาภายใต้ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ปัจจุบันในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยงมีเมี่ยงปลงทดสอบสาธิตพืช 4 ชนิด ได้แก่ เห็ด ไม้กระถาง วานิลลา และกาแฟอาราบิกา ซึ่งเป็นพืชสำคัญในการสร้างอาชีพ และเพื่อขยายองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้สนใจตามแนวทางการเป็นสถาบันการเรียนรู้โครงการหลวง เกษตรกรภายใต้การพัฒนาของโครงการหลวงป่าเมี่ยงในปัจจุบันมีรายได้จากการปลูกกาแฟอาราบิกาสูงสุด รองลงมาคือ เห็ด ไม้ดอก ไม้กระถาง ไม้ผล ชา วานิลลา และยังมีน้ำผึ้งจากดอกกาแฟซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโครงการหลวง มีเกษตรกรได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง 31 ราย สร้างรายได้ในปีที่ผ่านมารวม 606,582 บาท ปัจจุบันภาพรวมของเกษตรกรที่สมัครใจรับการพัฒนาด้วยองค์ความรู้ของโครงการหลวงรวม 260 ราย มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเส้นความยากจน คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 114,738 บาท

มูลนิธิโครงการหลวงยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงบนพื้นที่สูงขึ้นในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง โดยนำลูกปลาเรนโบว์เทร้าต์จากสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์มาเพาะเลี้ยงเมื่อปี พ.ศ. 2565 เริ่มจำหน่ายได้ในปลายปี 2566 ขณะนี้มีการขยายบ่อเพาะเลี้ยง โดยกรมชลประทานสนับสนุนการปรับปรุงบ่อเดิม 8 บ่อ และสร้างบ่อเลี้ยงใหม่อีก 22 บ่อ โดยผันน้ำจากแม่น้ำขุนห้วย ซึ่งเป็นน้ำที่มีคุณภาพ มีอุณหภูมิไม่เกิน 24 องศาเซลเซียส มีความใสสะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ทำให้ปลาเรนโบว์เทร้าต์ที่เพาะเลี้ยงเจริญเติบโตได้ดี แต่เนื่องด้วยปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อปลาเรนโบว์เทร้าต์ โดยหากอุณหภูมิเกิน 22 องศาเซลเซียส จะทำให้ปลาไม่กินอาหาร โครงการหลวงจึงดำเนินการเติมอากาศ เพิ่มปริมาณน้ำในบ่อให้มากขึ้น พร้อมจะปรับหลังคาจากตาข่ายพรางแสงเป็นหลังคาทึบแสงที่ช่วยลดอุณหภูมิลงได้ไม่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ในการเดินทางไปครั้งนี้ องคมนตรีได้ตรวจเยี่ยมอาคารแปรรูปปลาเรนโบว์เทร้าต์ ซึ่งเป็นอาคารที่ปรับจากโรงเก็บกาแฟ เพื่อให้กระบวนการแปรรูปเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอาหาร GMP ผลิตภัณฑ์ปลาเรนโบว์เทร้าต์จึงถือเป็นอีกหนึ่งการสร้างงานในชุมชน และโครงการหลวงป่าเมี่ยงได้พัฒนาสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้กาแฟ และประมงบนพื้นที่สูง


  

  

  

  



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ