องคมนตรีประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 4/2566

 11 ม.ค. 2566 18:12   


วันที่ 11 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 4/2566 ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ

 

โดยขณะนี้ มูลนิธิโครงการหลวงได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงาน เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติ เปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงศักยภาพและร่วมกันสร้างผลสำเร็จของงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล สนับสนุนวิสัยทัศน์ของมูลนิธิโครงการหลวง คือ “มุ่งวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชุมชนบนพื้นที่สูง รักษา และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ของการพัฒนาพื้นสูงอย่างยั่งยืน” ภายใต้รูปแบบการพัฒนาทางเลือกที่เรียกว่า “โครงการหลวงโมเดล” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลาง ตามหลักการพระราชทาน (1) เข้าใจ (2) เข้าถึง และ (3) พัฒนา ก่อเกิดผลสำเร็จที่นำสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม คือ สร้างเศรษฐกิจที่ดีและเพียงพอต่อการดำรงชีพ เกิดรายได้ที่เพียงพอ สามารถพึ่งพาตนเอง รักษาดิน และใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง ดังวัตถุประสงค์พระราชทาน คือ ให้ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ้งกันและกัน ชุมชนที่สูงของประเทศ มากกว่าร้อยละ 25 มีอยู่ดี มีสุข สามารถรักษาหมวกธรรมชาติ คือ ป่าไม้ และขยายหมวกจากพืชทางเลือกที่ได้รับการส่งเสริม รวมกว่า 3,215,000 ไร่

 

จากการเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ดำเนินงานล่าสุดของโครงการหลวง คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” เป็นระยะเวลากว่า 6 ปี โดยความร่วมมือ ร่วมแรง ของหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ได้นำมาสู่ผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ พื้นที่ฝิ่นได้หมดไปจากชุมชนเลอตอ พื้นที่สีเขียวรอบศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เพิ่มขึ้นกว่า 350 ไร่ จากการจัดระเบียบการใช้พื้นที่ ส่งเสริมการปลูกป่าภายใต้โครงการสวมหมวกให้ดอย การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชยืนต้นที่ให้ผลผลิตระยะยาว ใช้แรงงานน้อย ร่วมกับการปลูกพืชระยะสั้นเป็นรายได้เสริม การจัดทำแปลงในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยใช้โรงเรือนเพื่อลดพื้นที่ และเพิ่มปริมาณการผลิตต่อหน่วย รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมการรวมกลุ่มของเยาวชน กลุ่มสตรี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง เช่น กลุ่มหัตถกรรม กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ จึงเป็นตัวอย่างของการนำรูปแบบการพัฒนาทางเลือกของโครงการหลวงโมเดล ไปปฏิบัติใช้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่สูงอื่นในจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ