องคมนตรีประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2564

 01 เม.ย. 2564 09:28   


องคมนตรีประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2564


วันที่ 31 มีนาคม 2564 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ประกอบด้วย พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ และ พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต ร่วมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวม 36 ท่าน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องเทเวศร์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

องคมนตรีประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าว ขอบคุณหน่วยราชการที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการหลวง ประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดของกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก ตำรวจ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกปร. และกรมบัญชีกลาง

จากผลสำเร็จที่เกิดจากประสบการณ์ทำงานของโครงการหลวง ตลอดระยะเวลากว่า 52 ปี ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2512 เพื่อแก้ปัญหาความยากจน การปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร มีแนวพระราชดำริในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ คนในพื้นที่ของโครงการหลวงส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยสูงเกินเส้นมาตรฐานความยากจนของประเทศ ส่วนการพัฒนาโดยยึดหลักคนเป็นศูนย์กลาง ตามรูปแบบโครงการหลวงโมเดล ได้นำมาซึ่งการพัฒนาสังคม เด็กในพื้นที่มีการศึกษา เยาวชนหลายคนมีการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ในด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่หลายแห่ง จากเดิมที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งเต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ได้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวขจี ที่มีพืชพันธุ์เมืองหนาวต่าง ๆ ที่สร้างรายได้แก่เกษตรกร และยังส่งผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลอดภัยให้กับชาวเราได้มีโอกาสบริโภคอีกด้วย

จากการเปลี่ยนแปลงบริบทด้านสังคม ทำให้บนพื้นที่สูงมีการเปลี่ยนแปลง ความเจริญเข้าไปในพื้นที่ การที่คนในพื้นที่รับรู้ข่าวสารของโลกภายนอก ทำให้แนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่ค่อนข้างเป็นไปอย่างรวดเร็ว จากพื้นที่ที่ทำการเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้ถูกขยายพื้นที่ออกไป โครงการหลวงจึงได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการใช้พื้นที่ กลับมาเป็นเป้าหมายในการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การใช้พื้นที่ภายใต้กฎหมายอย่างถูกต้อง ในเรื่องของการจัดการด้านพื้นที่ ได้มีส่วนราชการเข้าไปดำเนินงานในเรื่องของการใช้พื้นที่ในหลาย ๆ แห่ง เช่น อ่างขาง อินทนนท์ หนองหอย เพื่อให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ สำหรับหน้าที่ของโครงการหลวง คือการเข้าไปส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรและนอกภาคการเกษตร เพื่อเข้าไปทดแทนรายได้ที่คนในพื้นที่ได้สูญเสียไป

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ พื้นที่ดำเนินการแห่งแรกในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงและการใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง ได้นำรูปแบบตัวอย่างของอ่างขางโมเดล จากอดีตอ่างขางที่เป็นพื้นที่ดำเนินการแห่งแรกของโครงการหลวง มีความยากลำบากต้องปรับกระบวนการทำงานเป็นระยะตามปัญหาที่พบหน้างาน จนมาถึงยุคสมัยเลอตอ การเป็นภูเขาหัวโล้น การปลูกฝิ่น ข้าวโพด การบุกรุก และทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาความมั่นคง ศูนย์ฯเลอตอ จึงได้ใช้แนวทางของโครงการหลวงเข้าไปจัดการ และได้ประสานความร่วมมือ กับหน่วยงานของภาครัฐทุกหน่วยงานโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การทำให้พื้นที่กลับสู่ความสมดุล ชาวบ้านได้รับประโยชน์ และอยู่ในสังคมที่อยู่ดีมีสุข เมื่อเรารักษาสมดุลของการใช้พื้นที่ รักษาสมดุลของสังคม ที่ใช้หลักตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เป้าหมายที่สำคัญก็คือ การที่โครงการหลวง จะนำองค์ความรู้และนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จะนำไปสู่การจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้การเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ที่จะมีการเผยแพร่ ทำให้เป็นประโยชน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นไปตามเป้าหมายของ SDGs


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ