มูลนิธิโครงการหลวงร่วมประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด CND สมัยที่ 66 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

 16 มี.ค. 2566 19:22   


มูลนิธิโครงการหลวงโดยการนำของพลเอก พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย เลขาธิการ ปปส. รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ณ กรุงเวียนนา อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในฐานะผู้แทนของประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (CND) สมัยที่ 66 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยมีผู้แทนประเทศสมาชิกยูเอ็นจาก 193 ประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

 

สำหรับการประชุม CND สมัยที่ 66 ครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติอย่างสูงในการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร องค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ในการพัฒนาต้นแบบทางเลือกการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นสูงของประเทศรวมทั้งระดับนานาชาติ และในครั้งนี้มูลนิธิโครงการหลวงยังได้ร่วมกับหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมคู่ขนานในรูปแบบการอภิปราย ในหัวข้อ HATS ON HILLS : The Inclusive Pathway on Alternative Development for Sustainability หรือการสวมหมวกให้ดอย: คือ เส้นทางการพัฒนาทางเลือกเพื่อความยั่งยืน โดยผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ผู้แทน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีกจำกัด (มหาชน) หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เกษตรกรผู้ปลูกผักอินทรีย์บ้านเมืองอาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และผู้นำเยาวชนเกษตรจากโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางแดงใน ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ จากในอดีตประเทศไทยประสบปัญหาพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารเสื่อมโทรมจากการบุกรุก เผาทำลาย เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ภูมิภาค และของโลก โดยในช่วง พ.ศ. 2507 มีรายงานผลการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นของประเทศไทยจาก UN ว่า มีจำนวนมากกว่า 12,000 เฮกตาร์ โครงการหลวงจึงเป็นองค์กรแรกที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่สูงอย่างจริงจัง ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือชุมชนชาวไทยภูเขามากกว่า 14 ชนเผ่า กำจัดฝิ่น รักษาดิน และใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง โดยให้ป่าอยู่ในส่วนที่ควรเป็นป่า ทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้สองส่วนนี้มารุกล้ำกันและกัน รูปแบบการพัฒนาทางเลือกแบบโครงการหลวง (Royal Project Model) ได้สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อประโยชน์ของชนเผ่าบนพื้นที่สูงและประชาชนโดยรวมของประเทศไทยเป็นที่ประจักษ์ และยังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ คือ การขจัดปัญหาพืชเสพติด โดยในปี พ.ศ.2547 UNODC ได้ประกาศถอนชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศผู้ผลิตฝิ่น การขจัดความยากจน โดยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมบนหลักวิชาการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดความมั่นคงด้านอาหาร สร้างรายได้จากพืชทางเลือก ที่เกิดจากผลการวิจัยของโครงการหลวง มากกว่า 200 ชนิด การพัฒนาชุมชนที่สูง จำนวน 468 ชุมชน 50,000 ครัวเรือน รวมประชากรกว่า 200,000 คน คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนประชากรบนพื้นที่สูงของประเทศ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับโอกาสทางการศึกษา มีสุขอนามัยที่ดี เกิดการรวมกลุ่มชุมชนเข้มแข็ง ทั้งด้านบทบาทสตรีและเยาวชน ภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน และที่สำคัญคือทำให้เกิดการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้โครงการ สวมหมวกให้ดอย หรือ Hats on Hills เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และกฎหมาย รูปแบบการพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนแบบโครงการหลวงนี้ จึงเป็นแนวปฏิบัติที่ดี เป็นตัวอย่าง ให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของพื้นที่อื่น ทั้งในประเทศและนานาชาติ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือ กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

 




องคมนตรียังได้นำคณะผู้เข้าร่วมรับฟัง เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการหลวงของประเทศไทย HATS ON HILLS : The Inclusive Pathway on Alternative Development for Sustainability” (สวมหมวกให้ดอย: เส้นทางที่ครอบคลุมในการพัฒนาทางเลือกเพื่อความยั่งยืน) ณ ลานโรทุนดา (Rotunda Hall) อาคาร C พร้อมทั้งได้เข้าพบ Ms. Ghada Fathi Waly, UNODC Executive Director ซึ่งชื่นชมการทำงานของโครงการหลวงในการพัฒนาทางเลือกที่เป็นแบบอย่าง นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของมวลมนุษย์โลก






 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ