คณะจากมูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. เข้าศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเกษตร ณ สาธารณรัฐออสเตรีย

 18 มี.ค. 2566 02:17   


ระหว่างวันที่ 15-16 มีนาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วยเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ผู้นำเยาวชนเกษตรกรของมูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง และผู้แทนของ บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมหุบเขาวาเคา มรดกโลกทางวัฒนธรรม สภาหอการเกษตรรัฐบูร์เกนลันด์ และฟาร์มเกษตรอินทรีย์ครบวงจร Bio-Ackerbaubetrieb Schmit สาธารณรัฐออสเตรีย

วันที่ 15 มีนาคม 2566 เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ได้นำและคณะจากมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ไปศึกษาดูงาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่หุบเขาวาเคา มรดกโลกทางวัฒนธรรม ของประเทศออสเตรีย มีพื้นที่ยาวประมาณ 36 กิโลเมตร ทอดขนานไปกับแม่น้ำดานูบในรัฐออสเตรียล่าง มีรูปแบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวอย่างที่ดี สามารถนำมาพัฒนาแนวคิดในการบริหารจัดการพื้นที่สูงทางภาคเหนือของประเทศไทย

 

คณะได้รับฟังการบรรยายสรุปบริเวณที่ทำการ โดยพื้นที่ในหุบเขาแห่งนี้ มีหมู่บ้านเล็ก ๆ เรียงรายอยู่ริมแม่น้ำดานูบ มีไร่องุ่นและแอพปลิคอทปลูกเรียงรายบนภูเขา และมีอาคารบ้านเรือนสวยงามอยู่ตรงกลางของเส้นทาง วาเคาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก้เมื่อปี 2553 เนื่องจากมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีร่องรอยโบราณคดีที่ได้รับการอนุรักษ์ ได้แก่ อาราม ปราสาท ที่ มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม มีประวัติศาสตร์การทำไร่องุ่นที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากเดิมที่แห่งนี้มีการแผ้วถางป่าธรรมชาติโดยคนในท้องถิ่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง ต่อมาในศตวรรษที่ 18 มีการส่งเสริม การปลูกองุ่นตามไหล่เขาที่เหมาะสมต่อระบบนิเวศน์ และในศตวรรษต่อมา มีการจัดระเบียบการใช้พื้นที่เกษตร จึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กลมกลืนระหว่างน้ำ พื้นที่ธรรมชาติ และบ้านเรือน มีอนุสรณ์สถานที่โดดเด่น รวมทั้งมีเมืองและหมู่บ้านประวัติศาสตร์หลายแห่ง ซึ่งมีหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากกว่าสองพันปี และมีสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญ คือ องุ่นไวน์ และแอปริคอท


วันที่ 16 มีนาคม 2566 คณะได้เดินทางไปยังสภาหอการเกษตรรัฐบูร์เกนลันด์ สาธารณรัฐออสเตรีย เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการทำเกษตรอินทรีย์ของรัฐบูร์เกนลันด์ จาก Mr. Nikolaus Berlakovich ประธานสภาหอการเกษตรรัฐบูร์เกนลันด์ ซึ่งได้เคยเดินทางมาศึกษาดูงานด้านการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โครงการหลวงเมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยที่โครงการหลวงส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และยังพัฒนาการผลิตพืชผักเมืองหนาวแบบไม่ใช้สารเคมีไม่ใช้พันธุ์พืช GMOs แต่เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ และข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพบนที่สูง เพื่อเพิ่มความทนทานต่อโรคและแมลง รวมถึงการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน และการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นฐานในการพัฒนาและส่งเสริมเกษตรกร การศึกษาดูงานครั้งนี้ จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรชาวออสเตรีย และนักวิชาการของโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นอกจากนี้คณะยังได้เยี่ยมชมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ครบวงจร Bio-Ackerbaubetrieb Schmit ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว Schmit โดยนาง Martina Schmit ได้กล่าวว่า การทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะเป็นผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลที่ดีต่อดินและสิ่งแวดล้อม ฟาร์มจึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ เมื่อ พ.ศ. 2544 และขยับขยายกิจการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นของตนเอง พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ ด้านเกษตรอินทรีย์สำหรับนักเรียนนักศึกษา และบุคคลภายนอกพืชที่ปลูก เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่ว ถั่วเหลือง ฟักทอง ข้าวโพด ดอกทานตะวัน รวมถึงพืช สมุนไพรต่าง ๆ สินค้าที่ขึ้นชื่อของฟาร์ม คือ ไบโอป๊อบคอร์น, น้ำมันเมล็ดฟักทอง, เกลือสมุนไพรอินทรีย์ ในปี 2556 ฟาร์มเกษตรอินทรีย์นี้ยังได้รับรางวัลสถานประกอบการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในท้องถิ่นดีเด่นจาก หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรัฐบูร์เกนลันด์ และปี 2564 ได้รับรางวัล “ร้านค้าฟาร์มดีเด่น – สาขานวัตกรรม” จากนิตยสารเกษตร Top Agrar ของออสเตรีย


จากการเข้าร่วมประชุมซีเอ็นดีสมัยที่ 66 และการศึกษาดูงาน ณ ประเทศออสเตรีย ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย ได้เผยแพร่พระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นไปตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวทางพัฒนาทางเลือกของประเทศไทย ที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ให้เกิดประโยชน์แก่ชาวโลก พร้อมนี้ นักวิชาการ นักพัฒนา และเกษตรกรบนพื้นที่สูง ยังได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีโลก เปิดมุมมองการพัฒนา และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตรเพื่อต่อยอดและปรับใช้บนพื้นที่สูงของประเทศไทยต่อไป





 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ