องคมนตรี ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 6/2566

 22 มี.ค. 2566 04:53   


วันที่ 22 มีนาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 6/2566 ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

องคมนตรีได้ติดตามเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง โดยพิจารณาการดำเนินการในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูง ที่มุ่งเน้นการบุกเบิกและพัฒนาสิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชนบนพื้นที่สูงให้สามารถพึ่งพาตนเอง และส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำลำธาร เกิดความมั่นคงและยั่งยืน การประชุมในครั้งนี้ องคมนตรีได้พิจารณาแผนงานและกรอบการวิจัยประจำปีงบประมาณ 2567 ภายใต้แผนกลยุทธ์มูลนิธิโครงการหลวง ระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อเป็นแนวทางจัดทำโครงการวิจัย ขับเคลื่อนกลยุทธ์การวิจัยและพัฒนาสู่เป้าหมายที่เป็นรูปธรรม ครบทุกมิติทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการวิจัยของโครงการหลวงปัจจุบัน ประกอบด้วย 6 แผนงาน 14 กรอบวิจัย ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาต้นแบบสายพันธุ์พืชและสัตว์ การวิจัยเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยที่ดำเนินการโดยบุคลากรของมูลนิธิฯ เป็นการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์งานวิจัยที่มีประโยชน์ เน้นการวิจัยที่ทันต่อเหตุการณ์ ตรงตามสภาพปัญหาและความจำเป็น รวมทั้งคุ้มค่าการลงทุน และสร้างบุคลากรที่เชี่ยวชาญการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ผลงานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง โครงการวิจัยและพัฒนากาแฟโครงการหลวง เป็นหนึ่งในการวิจัยและพัฒนาโดยโครงการหลวงที่มีความต่อเนื่อง เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมในการสร้างอาชีพแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ขณะนี้มูลนิธิโครงการหลวงจะร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมหาวิทยาลัยริวกิว ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินการทดสอบและคัดเลือกพันธุ์กาแฟอะราบิกาที่เหมาะสมต่อการผลิตในพื้นที่สูงของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น พร้อมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เพื่อสำรวจ วิเคราะห์ และประเมินปัจจัยต่าง ๆ นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตกาแฟ ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตทั้งทางกายภาพและคุณภาพการชงชิม ยกระดับตลาดกาแฟพิเศษโครงการหลวง อีกทั้งยังศึกษาต่อในด้านประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอนของต้นกาแฟภายใต้ระบบการปลูกกาแฟเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความยั่งยืนตามแนวทางของโครงการหลวง ในด้านการต่อยอดผลงานวิจัยใหม่ไปสู่การส่งเสริมอาชีพเกษตรกรบนพื้นที่สูงเพื่อเพิ่มทางเลือกในอาชีพ และเกิดการขยายผลด้านการตลาดอย่างกว้างขวาง โครงการหลวงได้กำหนดจะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกคีนัวแก่เกษตรกรในประเทศและกลุ่มประเทศใกล้เคียง อาทิ ประเทศเวียดนาม เมียนมาร์ มาเลเซีย ภูฏาน รวมทั้งผลักดันการขยายช่องทางการตลาดคีนัวในประเทศไทย โดยเป็นการสัมมนาทางวิชาการคีนัวของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ในวันที่ 29 มีนาคม 2566 รวมทั้งจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตคีนัว ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ซึ่งจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้การผลิตคีนัวบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ได้ตลอดทั้งวัน ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

 

ในบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรีได้ติดตามการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ถึง 4 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ.2509, 2512, 2521 และ 2525 ก่อนที่จะเริ่มก่อตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ในปี พ.ศ.2527 ในปี พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ เส้นทางสัญจรที่สะดวกดังเช่นปัจจุบัน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยได้กำเนิดขึ้นจากการต้องการความช่วยเหลือของราษฎรชนเผ่าม้งในพื้นที่ โครงการหลวงจึงดำเนินงานตามแนวทางพระราชทานเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ทำอาชีพเกษตรกรรม 224 ครัวเรือน ปลูกพืชเขตหนาว 13 ชนิด ประกอบด้วย พืชผัก สมุนไพร ไม้ผล สร้างรายได้จากทำการเกษตรแก่เกษตรกรปีละไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท จึงเป็นพื้นที่ผลิตพืชผักเขตหนาวคุณภาพที่สำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงของบริบทพื้นที่ โครงการหลวงได้ร่วมประชุมหารือเพื่อประสานการดำเนินการที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ยังคงยึดอาชีพเกษตรกรรม พร้อมทั้งดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ตามพระราชประสงค์ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อสร้างสมดุลแก่พื้นที่ไปพร้อมกับการสร้างประโยชน์แก่ราษฎรฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ