การประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2566

 23 มี.ค. 2566 19:13   


วันที่ 23 มีนาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงและหน่วยงานร่วมสนับสนุน นำสู่เป้าหมายการพัฒนาเพื่อความอยู่ดี กินดีของชุมชนพื้นที่สูง โดยการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภายใน และภายนอก

 

ด้วยปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการเกษตร คือ ดิน โครงการหลวงได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน ในการอบรมพัฒนาศักยภาพหมอดินอาสาด้านการเกษตรให้สามารถเข้าถึงข้อมูลถังความรู้แบบดิจิทัล จัดอบรมการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ แก่กลุ่มเกษตรกร 7 กลุ่ม 123 คน จากเป้าหมาย 298 คน ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง แม่สะป๊อก พระบาทห้วยต้ม และแม่แฮ สนับสนุนปัจจัยการผลิตในโครงการธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตและการใช้สารอินทรีย์ในพื้นที่โครงการหลวงทั้ง 39 แห่ง ปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ดินกรด ฟื้นฟู และป้องกันการชะล้างพังทลายของดินด้วยหญ้าแฝก เป้าหมาย 7,973,000 กล้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิต จะแจกจ่ายไปปลูกในช่วงฝน


ในด้านการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนเพื่อป้องกันยาเสพติด ดำเนินการร่วมกับ ปปส.ภาค 5 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วางแผนจัดทำคู่มือวัคซีนวัยรุ่นโครงการหลวง โดยรวบรวมองค์ความรู้ในการป้องกันยาเสพติดในพื้นที่โครงการหลวง เพื่อเป็นคู่มือแนะนำแก่เด็กและเยาวชน


ในด้านการสนับสนุนอาชีพ มูลนิธิโครงการหลวงได้รับความร่วมมือจากศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ จัดอบรมการเพาะกล้าแก่เยาวชน นักเรียน ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ อบรมการผลิตอาหารหมักสุกรเพื่อลดต้นทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชนเผ่าให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและสตรี ในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง อ. แม่วาง จ.เชียงใหม่ อาทิ การจักสานตะกร้า การทำกระด้ง การทำไม้กวาดดอกหญ้า นอกจากนี้

  


โครงการหลวงยังวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาต่อยอดหัตถกรรมชนเผ่า 4 ด้าน ได้แก่ 1) การวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาเครือข่าย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาคิดค้นเครื่องมือทอผ้าแบบกึ่งอัตโนมัตินำร่องผลิตผ้าทอชุมชนผสมเส้นใยเฮมพ์กับเส้นใยธรรมชาติ โดยมีแหล่งผลิต 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม แม่สาใหม่ แม่แฮ และเลอตอ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานภูมิปัญญา ดำเนินการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญา โดยเน้นการมีส่วนร่วมของเยาวชน เสริมสร้างทักษะการผลิตหัตถกรรม และใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น การนำไม่ไผ่จากการส่งเสริมในโครงการสวมหมวกให้ดอยมาทำเป็นตะกร้าสาน 3) เสริมสร้างเศรษฐกิจครัวเรือน โดยมีแหล่งจำหน่ายทั้งในชุมชน และร้านโครงการหลวง พร้อมพัฒนาตลาดออนไลน์ 4) อนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญา สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีการรวบรวมผ้าชนเผ่าเป็นดิจิทัลไฟล์ จัดกิจกรรมถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จัดประกวดการออกแบบผ้าทอเฮมพ์เพื่อผลิตจำหน่าย และในปีนี้มีแผนต่อยอดการประกวดนักออกแบบชนเผ่า ดีไซน์เนอร์จากดอยสู่ดาว พร้อมเตรียมจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ผ้าทอกะเหรี่ยงย้อมสีบ้านเลอตอ

จากเป้าหมายการเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่สูง ผลจากการวิจัยและพัฒนาคีนัว พืชไร่ที่มีอนาคตสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้โครงการหลวงจึงจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกคีนัว พร้อมเชิญชวนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ