งาน The International Workshop on Royal Project Highland Quinoa Production and Knowledge Exchange

 30 มี.ค. 2566 07:51   


วันที่ 29 มีนาคม 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวงเป็นประธานเปิดงาน "The International Workshop on Royal Project Highland Quinoa Production and Knowledge Exchange" การสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติเพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตคีนัวบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับการสัมมนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะทำงานอาสาสมัคร หัวหน้าสถานีเกษตรหลวง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวง นักวิชาการของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

องคมนตรีได้กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่า การวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จของการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด งานของโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน โครงการหลวงจึงยังคงดำเนินงานวิจัยอย่างตอเนื่อง เพื่อสร้างความหลากหลายของพันธุ์พืช เป็นทางเลือกในการอาชีพแก่คนบนพื้นที่สูง ตามความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก "คีนัว" เมล็ดพืชที่มีคุณประโยชน์สูง ถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณเทือกเขาแอนดีส ในประเทศเปรู ชิลี และโบลิเวีย เป็นพืชไร่ที่ สามารถเจริญเติบโตได้แม้ในสภาพอากาศเลวร้าย และดินที่เสื่อมโทรม จัดเป็นกลุ่มพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง ดอกเป็นช่อแขนงเรียงอยู่บนส่วนยอด มีทั้งสีขาว แดง ม่วง ดำ เหลือง และชมพู แตกต่างกันไปตามถิ่น


"คีนัว" เป็นหนึ่งในพืชทางเลือกที่เกิดจากผลสำเร็จของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ของโครงการหลวง ด้วยพบว่าพื้นที่สูงในประเทศไทยมีศักยภาพสามารถปลูกคีนัวได้ เริ่มแรกโครงการหลวงได้ร่วมมือจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันแหล่งพันธุกรรมแห่งชาติชิลี สถานทูตชิลีประจำประเทศไทย และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาคีนัวที่ และทดลองให้เกษตรกรปลูกเสริมในพื้นที่ทำการเกษตร ด้วยเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2560 โครงการหลวงส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย และมาตรฐานอินทรีย์ โดยมีเกษตรกรเริ่มแรก จำนวน 3 ราย ปัจจุบันโครงการหลวงสามารถคัดเลือกคีนัวพันธุ์ดี และขึ้นทะเบียนพันธุ์ในนามมูลนิธิโครงการหลวงได้ จำนวน 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์แดงห้วยต้ม พันธุ์เหลืองปางดะ พันธุ์โกเมนเกษตรหลวง และพันธุ์นิลเกษตรหลวง และมีเกษตรกรที่รับการส่งเสริม 77 ราย ปริมาณผลผลิต 9,555 กิโลกรัม มีรายได้รวมกว่า 1.4 ล้านบาท รวมทั้งยังพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป ได้แก่ ขนมปังคีนัวผสมสตรอว์เบอร์รี ขนมปังคีนัวผสมน้ำผึ้ง คีนัวบาร์ คีนัวกรอบ และโยเกิร์ตคีนัวพร้อมดื่มผสมสตรอว์เบอร์รี วางจำหน่ายในร้านโครงการหลวงทุกสาขา


ในการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการของคีนัว และแนวคิดในการพัฒนาต่อยออดสู่การตลาดอย่างกว้างขวาง โดยนักวิชาการ นักการตลาดในกลุ่มประเทศใกล้เคียง ทั้ง ประเทศไทย เมียนมาร์ ภูฏาน และชิลีแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตคีนัวขึ้น ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การปลูกคีนัวในประเทศไทยกว้างขวางขึ้น และผลักดันให้มีการขยายช่องทางการตลาดคีนัว โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้การผลิตคีนัวบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวงได้ตลอดทั้งวัน



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ