พิธีมอบโล่ การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง

 14 มี.ค. 2565 10:38   

พิธีมอบโล่ พร้อมใบรับรองและเกียรติบัตร

การพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลว




วันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก

กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมใบรับรอง และเกียรติบัตรในโครงการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำและยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ให้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่มูลนิธิโครงการหลวง พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง รวม 17 แห่ง รวมทั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อีก 25 แห่ง โดยมีผู้แทนจากศูนย์วิจัยตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมในพิธีครั้งนี้ ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่



โครงการหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม การเกิดก๊าซเรือนกระจก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมรับผิดชอบแก้ไข เนื่องจากส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีวิต โครงการหลวงจึงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาต้นแบบการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงเพื่อเข้าสู่มาตรฐานชุมชนคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยเริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2559 ดำเนินงานร่วมกับชุมชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการถอดบทเรียนความสำเร็จการพัฒนาชุมชนตามแนวทางโครงการหลวง และกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ใน 5 มิติ ได้แก่ มิติการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มิติการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ มิติการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม มิติความเข้มแข็งของชุมชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง และมิติการลดใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในพ.ศ.2564 ได้เข้าตรวจประเมิน โดยมีผลการประเมินในระดับดีเยี่ยม 8 ชุมชน ระดับดีมาก 7 ชุมชน และระดับดี 2 ชุมชน จึงถือได้ว่าโครงการหลวงเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่เริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน และในปีงบประมาณ 2565 จะขยายผลการดำเนินงานต่อไปยังชุมชนโครงการหลวงเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง

รายชื่อชุมชนที่ผ่านการประเมินในระดับดีเยี่ยม

1. บ้านใหม่สามัคคี ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จังหวัดเชียงใหม่

2. บ้านป่าแป๋ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

3. บ้านนอแล สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

4. บ้านลั๊ว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว จังหวัดเชียงใหม่

5. บ้านห้วยทรายขาว ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จังหวัดเชียงราย

6. บ้านอาแบ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สลอง จังหวัดเชียงราย

7. บ้านหาดส้มป่อย สถานีเกษตรหลวงปางดะ จังหวัดเชียงใหม่

8. บ้านห้วยมะเกลี้ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง จังหวัดเชียงราย

🚩รายชื่อชุมชนที่ผ่านการประเมินในระดับดีมาก

1. บ้านปู่คำห้วยแห้ง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สามแลบ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

2. บ้านนาหมัน โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่จริม จังหวัดน่าน

3. บ้านใหม่พัฒนา โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงวาวี จังหวัดเชียงราย

4. บ้านแม่ลามาหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

5. บ้านน้ำแป่ง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงน้ำแป่ง จังหวัดน่าน

6. บ้านเมืองอาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่

7. บ้านแม่มะลอ โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ จังหวัดเชียงใหม่

🚩รายชื่อชุมชนที่ผ่านการประเมินในระดับดี

1. กลุ่มบ้านห้วยปูหลวง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะบ้านแม่แฮหลวง จังหวัดเชียงใหม่

2. บ้านร่มฟ้าผาหม่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จังหวัดเชียงราย














 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ