องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนพฤษภาคม 2565

 17 พ.ค. 2565 01:41   


วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.30 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานและผู้ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุม จำนวน 100 คน เพื่อร่วมกันดำเนินการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงสู่จุดหมายของความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาพื้นที่สูงเป็นงานสำคัญที่มีผลต่อความมั่นคงประเทศ แต่เดิมประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้มีความยากจน ทำการเกษตรผิดวิธี จึงส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม โครงการหลวงจึงกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 การพัฒนาขยายออกไปในกลุ่มบ้านต่าง ๆ บนพื้นที่สูง รัฐบาลได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นองค์กรในรูปแบบองค์การมหาชน เมื่อ พ.ศ.2548 เพื่อช่วยสนับสนุนและขยายผลการพัฒนาไปในพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก 39 แห่งที่โครงการหลวงดูแลอยู่ ตัวอย่างผลสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรมในการนำรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงไปปฏิบัติ ดังเช่น พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2563 จากชุมชนไร่หมุนเวียน 966 ไร่ ได้เปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนฟื้นฟูป่าด้วยการเกษตรที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต และสร้างรายได้ที่พอเพียง นอกจากนี้ยังส่งเสริมการนำความรู้ และแนวทางปฏิบัติของโครงการหลวงไปใช้ประโยชน์ โดยเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ สามารถศึกษาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการมีชีวิต “โครงการหลวง ถอดรหัส จากเขา สู่เรา” ได้ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ดำเนินงานต่าง ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง



ปัจจุบันประเด็นท้าท้ายในการทำงานของโครงการหลวงในภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ คือ การวิจัยพันธุ์พืชที่เหมาะสม การนำพลังงานทดแทน และในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อลดลง ผลผลิตของเกษตรกรจึงต้องเน้นคุณภาพและตอบสนองตามความนิยม การพัฒนาสู่เป้าหมายชุมชนพึ่งพาตนเอง มีภูมิคุ้มกัน นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จึงยังต้องขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำปัจจัยพื้นฐานเข้าสู่พื้นที่ตามบริบทของปัญหาเพื่อสร้างความเสมอภาคแก่ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารบนพื้นที่สูง สร้างอาชีพโดยยึดแนวทางที่ไม่ให้เกิดการแข่งขันกับเกษตรกรพื้นราบ แก้ปัญหาความยากจนโดยส่งเสริมการปลูกพืชแก่เกษตรกรบนความสมัครใจ และได้รับค่าตอบแทนผลิตผลที่เป็นธรรมภายใต้กลไกราคาท้องตลาด ผลิตพืชที่ปลอดภัย โดยการควบคุมอย่างเคร่งครัดในกระบวนการผลิต ทั้งรายการสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การสุ่มตรวจสารตกค้างตามระยะเวลา สร้างตราสินค้าที่การันตีคุณภาพให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าได้บริโภคอาหารปลอดภัย และสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ และรับผิดชอบต่อสังคม


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ