งานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับนานาชาติ

 22 ส.ค. 2565 23:28   

มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับนานาชาติ “International Seminar on Sustainable Highland Development (ISSHD) Responding to Challenges Beyond The New Normal"


วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เวลา 14.50 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับนานาชาติ “International Seminar on Sustainable Highland Development (ISSHD) Responding to Challenges Beyond The New Normal” ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ และผ่านสื่อออนไลน์



การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการเข้าร่วมประชุม CND ครั้งที่ 65 เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางของมูลนิธิโครงการหลวง หรือ Royal Project Model ซึ่งเป็นรูปแบบการปฏิบัติงานที่ดีในการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างครบวงจรได้เผยแพร่ ขยายองค์ความรู้และประสบการณ์ไปสู่ที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่สูงกับผู้เข้าร่วมสัมมนาจากต่างประเทศ อาทิ UNODC จาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อัฟกานิสถาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เปรู เนปาล ราชอาณาจักรภูฏาน ไต้หวัน โดยถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จจากเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Thierry Rostan หัวหน้าหน่วยพัฒนาทางเลือก UNODC สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ มาบรรยายในหัวข้อ “นโยบายด้านการพัฒนาทางเลือกของ UNODC ในการรับมือกับความปกติใหม่และการก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ" อีกด้วย


โครงการหลวงโมเดล เป็นการพัฒนาจากจุดเล็ก ๆ สู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ จากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 50 ปี ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาความยากจนจากการปลูกพืชเสพติด การทำเกษตรแบบเลื่อนลอย และการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา และต่อยอด โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินงานอย่างเข้าใจ เข้าถึง ทำให้บรรลุผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนาพื้นที่สูงสู่ความยั่งยืน ครอบคลุมในทุกมิติ จากพื้นที่พัฒนาโครงการหลวง 39 แห่ง ไปสู่โครงการขยายผลแบบโครงการหลวง 44 แห่ง และต่อยอดในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ แนวทางของโครงการหลวงยังสนับสนุนตามเป้าหมาย BCG Model ของประเทศไทย และการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติ

การสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ครั้งนี้ ได้มีตัวแทนของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อ.แม่แจ่ม และ ชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านเมืองอาง ของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อ.จอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มาเล่าประสบการณ์ของการพลิกฟื้นพื้นที่สูงจากระบบเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม มาสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนแปลงความยากจนจากอาชีพปลูกฝิ่น ทำไร่หมุนเวียน มาเป็นการปลูกพืชเขตหนาวที่สร้างอาชีพบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความมั่นคงและเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับ BCG Model ของประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นการพัฒนาที่ครบวงจรนำสู่ความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่ชุมชนอยู่ดีกินดี อย่างพอดี และพอเพียง

นอกจากนี้ โครงการหลวงยังมุ่งความสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ การใช้องค์ความรู้และหลักวิชาการที่เหมาะสม การสร้างจิตสำนึก และการส่งเสริมความเข้มแข็งของคนในชุมชน จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่ความยั่งยืน โครงการหลวงตั้งเป้าหมายการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ใกล้ตัว คือ การเกษตรปลอดภัย ก้าวสู่การสร้างจิตสำนึกของคนในชุมชน และส่งเสริมสู่ชุมชนคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ด้วยความมุ่งหมายเพื่อเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเหมาะสม สมดุล โดยมีต้นแบบป่ากักเก็บคาร์บอนอย่างยั่งยืนที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง การสัมมนานานาชาติในครั้งนี้ จะมีต่อเนื่องเป็นวันที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 โดยเป็นเวทีการอภิปรายของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ซึ่งเป็นองค์กรที่นำรูปแบบโครงการหลวงโมเดลไปขยายผลในพื้นที่สูงอื่นของประเทศ








 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ