องคมนตรีประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 2/2565

 20 ก.ย. 2565 18:48   


วันที่ 20 กันยายน 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ประกอบด้วย พันโท สมชาย กาญจนมณี พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ ร่วมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐในฐานะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ณ ห้องประชุมเทเวศร์ อาคาร 4 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้พื้นที่บ้านเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งแรกในรัชสมัย มูลนิธิโครงการหลวงจึงดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอเพื่อความยั่งยืน ปีงบประมาณ 2565-2570 โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวทางพระราชทาน จากพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ชาวบ้านยากจน ปลูกฝิ่น และทำไร่ข้าวโพด ปัจจุบันชุมชนได้รับการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ทั้งเส้นทางขนส่งผลผลิต การขยายเขตไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน โดยมุ่งเน้นกลุ่มบ้านที่ทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์ฯ เลอตอ และเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่หินหลวงน้อย ปัจจุบันแล้วร้อยละ 33 และยังมีการเจาะสำรวจน้ำบาดาลต่อระบบกระจายน้ำเข้าสู่บ่อเก็บน้ำของอาคารคัดบรรจุ รวมถึงการติดตั้งจุดทวนสัญญาณวิทยุสื่อสาร เนื่องจากจุดที่ตั้งของบ้านเลอตออยู่ห่างไกลไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ ขณะนี้ยังมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์ประสานงานเศรษฐกิจพอเพียงโครงการหลวงเลอตอ มีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 20 และดำเนินการจัดระเบียบการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตามมาตรา 19 แห่ง ในพื้นที่ 126,000 ไร่ ได้รับรองข้อมูลร่วมกับหน่วยงานและราษฎรแล้ว ก่อนส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปวางแผนการพัฒนาในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ในปี 2565 กรมป่าไม้ยังได้คืนข้อมูลผลการวิเคราะห์พื้นที่ให้แก่ชุมชน และขอใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรกรตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพิ่มเติมสำหรับเกษตรกรรายใหม่ สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2566 เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในหลายพื้นที่บนพื้นที่สูง ยังมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โครงการหลวงจึงได้ดำเนินกิจกรรม“โครงการสวมหมวกให้ดอย”เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีและรูปแบบการผลิตของเกษตรกร ไปสู่การปลูกพืชแบบผสมผสานร่วมกับต้นไม้ป่าแบบวนเกษตรทำให้ได้พื้นที่ป่า และยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร กระตุ้นให้เกษตรกรเห็นคุณค่า และมีจิตสำนึกที่ดีในการใช้และรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยใน 2565 โครงการหลวงดำเนินโครงการสวมหมวกให้ดอยในพื้นที่ 37 แห่ง 1,729.83 ไร่ และได้คัดเลือกพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง อ.เวียงป่าเป้า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น อ. แม่สรวย จ.เชียงราย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ. ตาก เป็นกรณีศึกษา พร้อมมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้นำชุมชน สร้างภูมิคุ้มกันในแก่เยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ พัฒนาหัตถกรรมชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อต่อยอดเพิ่มคุณค่าเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย อนุรักษ์ ฟื้นฟู วัฒนธรรมภูมิปัญญา หัตถกรรมชนเผ่าบนพื้นที่สูง สร้างการเรียนรู้งานหัตถกรรมผ่านวิถีชีวิตชุมชน เพื่อถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นใหม่ ในศูนย์นำร่องคือ ศูนย์ฯ ขุนแปะ และวัดจันทร์ และเตรียมจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมบนพื้นที่สูงด้านผ้าทอกะเหรี่ยงย้อมสีธรรมชาติ ที่ศูนย์ฯ เลอตอ เสริมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่ศูนย์ฯ พระบาทห้วยต้ม และทุ่งหลวง


จากจุดเริ่มต้นที่แทบจะเป็นศูนย์ในยุคเริ่มแรก เพราะพืชพันธุ์เขตหนาวที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนฝิ่นส่วนใหญ่ไม่เคยเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาก่อน และส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มูลนิธิโครงการหลวงได้วิจัย ค้นคว้า และทดลองมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนสามารถปรับปรุงพันธุ์ทั้งพืช และสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ผลิตสายพันธุ์ใหม่ๆ มากมายหลายชนิด โครงการหลวงได้สร้างสมประสบการณ์ทางวิชาการ และเทคโนโลยีการปลูกพืชเมืองหนาวอย่างหลากหลาย ถ่ายทอดแก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ โดยอาคารศูนย์เรียนรู้การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ ในพื้นที่ศูนย์ผลิตผลโครงการหลวงกรุงเทพ กำลังดำเนินการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่ได้มาตรฐาน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นอกจากนี้มูลนิธิโครงการหลวงได้วางเป้าหมายการพัฒนาเป็นสถาบันการเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เป็นจุดเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย ขยายองค์ความรู้และรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

 

 

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ