การประชุมวิชาการผลงานวิจัยฯ ประจำปี 2565

 11 พ.ย. 2565 00:03   


วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องราชพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการผลงานวิจัย ประจำปี 2565 โดย ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ ประธานคณะทำงานวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวรายงาน พร้อมด้วย พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมบรรยายพิเศษ “การขับเคลื่อนศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชนกาธิเบศดำริ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้บนพื้นที่สูง”, ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บรรยายพิเศษ “ทิศทางงานวิจัยของประเทศ และแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยบนพื้นที่สูง”, นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) บรรยายพิเศษ “การขับเคลื่อนงานวิจัยบนพื้นที่สูงภายใต้แผนปฏิบัติการด้านพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570)” ตามแนวทางของมูลนิธิโครงการหลวง (Royal Project Model) ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย อาสาสมัคร หัวหน้าสถานี/ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง นักวิจัย และนักวิชาการของมูลนิธิโครงการหลวง และหน่วยงานเครือข่ายเกษตรกร ทั้งสิ้น 450 คน

  

โดย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้ให้แนวทางการขับเคลื่อนศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เป็นศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่สูง ด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะสร้างประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และประชาชนโดยรวมของประเทศ รวมทั้ง ภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก จากหลักการ “เมื่อไม่รู้ต้องวิจัย....” การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูง จึงเป็นงานสำคัญในลำดับแรก และควบคู่มากับโครงการหลวงตลอดกว่า 5 ทศวรรษ ประกอบกับการมุ่งสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการหลวงให้มีความยั่งยืน การวิจัยของโครงการหลวงจึงมุ่งเน้นการสรรค์สร้างนวัตกรรม องค์ความรู้ใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนางาน ทั้งด้านการเกษตร สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการการตลาดเพื่อสังคม รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของเกษตรกร การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ในการจัดประชุมวิชาการผล

 

งานวิจัยครั้งนี้ จึงเป็นการรวบรวมความก้าวหน้างานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อนำไปสู่การพัฒนา เผยแพร่ และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านงานวิชาการระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายพันธมิตรวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการแสดงผลงานนิทรรศการตัวอย่างของความสำเร็จจากเกษตรกรในพื้นที่สูงมาสู่ระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ หมวดองค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยี ได้แก่ ผลงานการวิจัยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตมะม่วงโดยการใช้ปุ๋ยแคลเซียมและโบรอน, ผลของพื้นที่การผลิตและช่วงระยะเวลาการผลิตที่มีผลต่อคุณภาพชาอู่หลง 2 สายพันธ์ในพื้นที่โครงการหลวง, การวิจัยและพัฒนาการปลูกเมลอนบนพื้นที่สูงในระบบ Smart Farming, การวิจัยการจัดการธาตุอาหารแบบแม่นยำสำหรับพืชเศรษฐกิจของพื้นที่สูง การศึกษาและพัฒนารูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานที่เหมาะสมกับบริบทบนพื้นที่สูง การพัฒนาแผนกลยุทธ์การตลาดสำหรับร้านกาแฟของมูลนิธิโครงการหลวง การศึกษาและทดสอบต้นแบบตลาดออนไลน์สินค้าเกษตรสำหรับกลุ่มเกษตรกรบนพื้นที่สูง


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ