องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวง

 28 พ.ย. 2565 03:43   


วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมกับส่วนงานต่าง ๆ ของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้นโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร ในการโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้น

ด้วยวัตถุประสงค์ลำดับแรกของโครงการหลวง คือ “การช่วยชาวเขาเพื่อมนุษยธรรม” ดังนั้น การดำเนินงานของโครงการหลวงจึงมุ่งเป้าสู่การพัฒนาอาชีพแก่ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร โดยส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาว ซึ่งเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากการวิจัย นโยบายการวิจัยของโครงการหลวงปัจจุบัน นอกจากยังคงดำเนินการวิจัยในสิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมุ่งเน้นการวิจัยต่อยอด เพื่อแก้ปัญหาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ส่งเสริมแก่เกษตรกรอยู่เดิม แก้ปัญหาผลกระทบต่อดิน น้ำ และการใช้พื้นที่บนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และส่งเสริมให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกในการดูแล รักษา สามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุล สอดรับวัตถุประสงค์ในลำดับถัดมา คือ “ช่วยชาวไทย โดยลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าไม้ และต้นน้ำลำธาร” และวัตถุประสงค์อีก 2 ประการ คือ “กำจัดการปลูกฝิ่น” “รักษาดิน และใช้พื้นที่ให้ถูกต้อง คือ ให้ป่าอยู่ส่วนที่เป็นป่า และทำไร่ ทำสวน ในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าสองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน”


จากโครงการส่วนพระองค์ ได้เปลี่ยนสภานภาพมาสู่มูลนิธิโครงการหลวงใน ปี พ.ศ. 2535 ด้วยพระราชประสงค์ให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่มีความถาวร มั่นคง มีระบบงานที่แน่นอนรองรับ ปัจจุบันการดำเนินงานยังคงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ให้เป็นประโยชน์โดยรวมแก่ปวงประชา พร้อมทั้งยึดหลักการทำงานแบบครบวงจร ได้แก่ การวิจัย การพัฒนาส่งเสริมอาชีพ และการดำเนินการตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวเขา มูลนิธิโครงการหลวงมุ่งสู่องค์กรที่มีระบบบริหารงบประมาณ และทรัพยากรอย่างประหยัด และคุ้มค่า เป็นศูนย์กลางของการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อพัฒนาชุมชนที่สูงอย่างสมดุล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมยึดแนวทางพระราชทาน “ช่วยเขาให้ช่วยตนเอง” โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ” ที่ตั้งขึ้น ณ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์รวมของการดำเนินงานวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้การพัฒนาพื้นที่สูงตามพระราชดำริ ดังความหมายของชื่อพระราชทาน “ชนกาธิเบศรดำริ” และจะขับเคลื่อนสู่การเป็นสถาบันการเรียนรู้ โดยมีศูนย์การเรียนรู้ตัวอย่างของการพัฒนา และเป็นแหล่งองค์ความรู้เพื่อการเผยแพร่ ในพื้นที่ดำเนินการที่เรียกว่า สถานีวิจัย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง จำนวน 39 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนโดยรวมของประเทศ และระดับนานาชาติ ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิโครงการหลวง


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ