สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรือนรวบรวมพันธุ์พืชพระราชทาน

 12 ธ.ค. 2565 19:58   


วันที่ 10 ธันวาคม 2565 เวลา 14.30 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรือนรวบรวมพันธุ์พืชพระราชทาน “สิริวัณณวรี Botanical Garden” ณ สถานีเกษตรหลวงอ่าขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง และส่วนราชการในพื้นที่เฝ้ารับเสด็จ

 

 

โดยที่มูลนิธิโครงการหลวงได้รับพระราชทานพันธุ์พืช และอุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงได้นำไปปลูกทดสอบในพื้นที่ปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ สถานีเกษตรหลวงปางดะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ รวมทั้งได้รักษาพันธุ์อีกส่วนหนึ่งไว้ที่ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลจากการทดสอบการปลูกและขยายพันธุ์พืชหลายชนิด สามารถเพิ่มปริมาณพันธุ์ได้จำนวนหนึ่ง โครงการหลวงจึงได้นำไปรวบรวมไว้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างโรงเรือน เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวม และจัดแสดงพันธุ์พืชเขตหนาวเพื่อการเรียนรู้แก่ประชาชนที่เข้าไปเยี่ยมชมสถานีฯ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานชื่อโรงเรือนแห่งนี้ว่า “สิริวัณณวรี Botanical Garden”

  

 


ภายในโรงเรือนแห่งนี้ มีการจัดแสดงพันธุ์พืชพระราชทาน ทั้งสิ้น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มไม้ผล จำนวน 4 ชนิด 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ขนุน แก้วมังกร ราสพ์เบอร์รี และสตรอว์เบอร์รี กลุ่มพืชสมุนไพร จำนวน 5 ชนิด 11 สายพันธุ์ ได้แก่ สวีทเบซิล มิ้นต์ และลาเวนเดอร์ กลุ่มไม้ดอกเขตหนาว จำนวน 1 ชนิด 1 สายพันธุ์ ได้แก่ ลิลลี่ ออฟ เดอะ วัลเลย์ และกลุ่มพืชผัก จำนวน 12 ชนิด 27 สายพันธุ์ ได้แก่ แรดิช แตงเปรี้ยว ถั่วแขกสีเหลือง ถั่วแขกสีม่วง มะเขือม่วง รูบาร์บ พาสลีย์ ออยส์เตอร์แพลนท์ และมะเขือเทศ โดยพันธุ์มะเขือเทศที่ได้รับพระราชทาน รวมทั้งสิ้น 10 สายพันธุ์ อาทิ มะเขือเทศพันธุ์ indigo kamquat ผิวผลเป็นสีเหลืองปนน้ำตาลม่วง Brown Berry ผิวผลสีน้ำตาลแดง ทั้ง 2 พันธุ์นี้ออกผลเป็นช่อคล้ายองุ่น เมื่อสุกมีรสชาติหวาน เนื้อหนา นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์ bluer P 20 ซึ่งมีสีแตกต่างจากพันธุ์ปกติ โดยมีผิวผลและเนื้อสีชมพูแดงอมม่วง รสชาติดี ให้ผลผลิตสูง มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยมีปริมาณวิตามินซีที่สูงมาก 

 

 สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีเกษตรหลวงแห่งแรกของโครงการหลวง ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัย ทดสอบพันธุ์พืช สำหรับส่งเสริมเป็นทางเลือกสร้างอาชีพแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง มาตลอดระยะ 53 ปี ภายในสถานียังมีแปลงวิจัยพืชเขตหนาวและแปลงรวบรวมพันธุ์พืชที่สำคัญ อาทิ แปลงพีช สาลี่ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน สวนบ๊วยที่มีอายุต้น กว่า 47 ปี สวนซากุระญี่ปุ่น และโรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเขตหนาวอีกกว่า 70 ชนิด โดยแปลงเกษตรเหล่านี้ถือเป็นจุดท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญ นอกจากนี้ ชุมชนโดยรอบสถานียังมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งกายที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า โดยเฉพาะ ชนเผ่าลาหู่ บ้านขอบด้ง และ ชนเผ่าดาราอั้ง บ้านนอแล การเดินทางไปท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงมีความหลากหลาย น่าสนใจ และ โรงเรือนรวบรวมพันธุ์พืชพระราชทาน “สิริวัณณวรี Botanical Garden” แห่งใหม่นี้ จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ ซึ่งจะเปิดให้นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ ได้เข้าชมความหลากหลายของพันธุ์พืชสายพันธุ์ต่างประเทศที่ได้รับพระราชทานมารวมกว่า 40 สายพันธุ์


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ