องคมนตรี ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 3/2566

 10 ม.ค. 2566 21:49   


วันที่ 21 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จ.เชียงใหม่

 

ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งจากพื้นที่ที่มีปัญหา หมู่บ้านที่ไม่ใครรู้จัก ชาวบ้านยากจน การเดินทางยากลำบาก ห่างไกลความเจริญ สู่การได้รับโอกาสที่สร้างความยั่งยืน และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวเขาไปในทางที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาส่งเสริมอาชีพจัดทำแปลงทดสอบสาธิตการปลูกพืชถั่วลันเตาหวาน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้เรียนรู้ และจัดทำแผนการส่งเสริมการผลิตเพื่อเพิ่มความหลากหลายของชนิดพืชให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตาก เปลี่ยนยอดอาโวคาโดพันธุ์ดีให้กับเกษตรกร จำนวน 4 พันธุ์ รวม 460 ต้น สำหรับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพนอกภาคการเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงพื้นที่ศึกษาและรวบรวมลวดลายผ้ากะเหรี่ยง กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเลอตอ ทำแผนงานหัตถกรรมพัฒนาต่อยอดการย้อมสีผ้าธรรมชาติด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นในโครงการป่าให้สี เช่น หมาก สารภีดอย โก๊ะ ตองก๋ง เพกา หว้า เป็นต้น และยังถ่ายทอดเทคโนโลยีการย้อมสีผ้าทอกะเหรี่ยงย้อมสีธรรมชาติ ทำให้สมาชิกมีรายได้จากการจำหน่ายกว่า 38,000 บาท

 

ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน และการถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตคีนัวบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง โดยได้นำพันธุ์คีนัว จำนวน 2 สายพันธุ์ เข้ามาศึกษาและทดลองปลูกในพื้นที่ของโครงการหลวงเมื่อปี พ.ศ. 2559 ในระยะแรกยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 – 2563 โครงการหลวงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีในประเทศไทย ซึ่งผลจากงานวิจัยสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี และขึ้นทะเบียนพันธุ์ในนามมูลนิธิโครงการหลวง จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เหลืองปางดะ พันธุ์แดงห้วยต้ม พันธุ์โกเมนเกษตรหลวง และ พันธุ์นิลเกษตรหลวง จากผลสำเร็จจึงได้นำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเชิงการค้า ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูก จำนวน 77 ราย พื้นที่ 27.66 ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 1.4 ล้านบาท และยังนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจาก คีนัว ทั้งหมด 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ขนมปังคีนัวผสมสตรอว์เบอร์รี ขนมปังคีนัวผสมน้ำผึ้ง คีนัวบาร์ คีนัวกรอบ และโยเกริต์คีนัวพร้อมดื่มผสมสตรอว์เบอร์รี

 

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ