องคมนตรีตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น

 15 มี.ค. 2564 08:34   

 

องคมนตรีตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น 


ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

วันที่ 12 มีนาคม 2564 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ซึ่งแต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนคณะชาติอพยพตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนกระทั่งใน พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ปูนหลวง และทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวงขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพ จากเดิมที่ราษฎรมีรายได้จากการเก็บใบชาจากต้นชาป่า หรือชาอัสสัม แปรรูปเป็นชาอบแห้งจำหน่าย จากการสำรวจพื้นที่เพื่อทำขอบเขตของศูนย์ฯ พบว่า พื้นที่บริเวณบ้านห้วยน้ำขุ่นซึ่งมีเขตติดต่อกับบ้านแม่ปูนหลวงปลูกฝิ่นจำนวนมาก จึงแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ทีมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้รับผิดชอบหมู่บ้านแม่ปูนหลวง และทีมของฝ่ายเกษตรที่สูงเชียงราย สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร รับผิดชอบหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น ต่อมาจึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่นอย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ. 2526 

ปัจจุบัน ศูนย์ฯ ห้วยน้ำขุ่น มีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 9 หมู่บ้าน 13 หย่อมบ้าน ประชากรเป็นชนเผ่าจีนยูนาน อาข่า ปกาเกอะญอ ลาหู่ และอาเข่อ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย จำนวนประชากรรวม 2,018 ครัวเรือน 8,133 คน พืชที่ส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรเป็นหลัก คือ กาแฟอาราบิกา และชา รวมทั้งยังมีผักและไม้ผล ซึ่งปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ทำให้เกษตรกรมีรายได้โดยเฉลี่ย 95,000 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร ในด้านสังคม ศูนย์ฯ ห้วยน้ำขุ่นได้สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชนให้สามารถรวมกลุ่ม เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่มีมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่จันใต้ ที่รวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟออกจำหน่าย มีรายได้หมุนเวียนในกลุ่มมากกว่าหนึ่งแสนบาท และยังมีกลุ่มหัตถกรรมผ้าปักอาข่าบ้านป่าเกี๊ยะ นอกจากนี้ยังเน้นการดำเนินงานส่งเสริม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ โดยส่งเสริมการปลูกไม้ผลยืนต้น ได้แก่ ต้นอาโวคาโด บ๊วย และแมคคาเดเมีย เพื่อสร้างพื้นที่ป่าภายใต้โครงการสวมหมวกให้ดอย ซึ่งมีผลพลอยได้คือ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง โดยในปี พ.ศ.2564 มีเป้าหมาย 166 ไร่ พร้อมทั้งจัดโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ยางมิ้น, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, กรมพัฒนาที่ดิน, หน่วยราชการปกครองท้องถิ่น และชุมชน ในปี พ.ศ.2563 พื้นที่รวม 774 ไร่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่นดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการ ทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายของมูลนิธิโครงการหลวง โดยบูรณาการแผนชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรท้องถิ่น และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบัน ได้แก่ การก่อสร้างระบบน้ำดื่ม โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การสร้างฝาย ระบบส่งน้ำ และบ่อพักน้ำ โดยกรมทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ และระบบกระจ่ายน้ำสู่แปลงเกษตรกร โดยกรมพัฒนาที่ดิน การก่อสร้างอาคารคัดบรรจุผลผลิต โดยงบบูรณาการจากจังหวัดเชียงราย

ก่อนเดินทางกลับองคมนตรีได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่นและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง พัฒนางานในพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับพระราชทาน คือ สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ราษฎร มุ่งรักษาและสร้างสมดุลระบบนิเวศน์ในพื้นที่ เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นราบ รณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรผลิตพืชปลอดภัย โดยเน้นการใช้สารชีภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของผลผลิตโครงการหลวงที่ประชาชนเชื่อมั่น รวมทั้งสร้างความความเข้าใจกับราษฎรถึงเป้าหมายในการเข้ามาช่วยเหลือของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้คนมีอาชีพ มีรายได้ที่พอเพียง และช่วยดูแลรักษาธรรมชาติ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ