องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือน ธันวาคม 2565

 11 ม.ค. 2566 05:28   


วันที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการ 1 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ร่วมกับการประชุมผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ เพื่อรับฟังการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ รายงานการคาดหมายลักษณะอากาศในเดือนธันวาคม 2565 ถึง มกราคม 2566 เพื่อให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงบริหารจัดการการเกษตรอย่างเหมาะสม โดยเดือนธันวาคมนี้ มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนมีกำลังแรงเป็นระยะ ทำให้ตอนบนของประเทศมีอากาศหนาวเย็น บริเวณเทือกเขาและยอดดอยหนาวจัด สำหรับในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนที่อุณหภูมิส่วนใหญ่ของประเทศลดลงต่ำสุด มีอากาศหนาวเย็นกับมีลมแรง และมีหมอกในตอนเช้า เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ปีก ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเกิดโรคได้ง่าย รวมทั้งควรระวังการเกิดอัคคีภัย โดยหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาที่ดินโครงการหลวง อีกหนึ่งหน่วยงานร่วมดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนยุทธศาสตร์โครงการหลวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนงานสร้างความเข้มแข็งของชุมขน แผนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและเสริมสร้างพลังงานทดแทนแก่ชุมชน มีกิจกรรมที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนและผู้นำชุมชนโครงการหลวง โดยการอบรมหมอดินอาสา 3 หลักสูตร รวม 176 ราย ดำเนินการในโครงการหมอดินน้อย เป้าหมายส่งเสริมนักเรียนในโรงเรียนทำการเกษตรอินทรีย์ และพัฒนากลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ รวม 5,900 ราย ปรับปรุงพื้นที่ดินกรด ผลิตปุ๋ยหมัก จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ 1,400 ไร่ ส่งเสริมการปลูกแฝก 7 แสน 9 หมื่นกล้า พร้อมทั้งจัดทำโครงการระบบส่งน้ำชลประทาน และเส้นทางลำเลียงภูเขา สำหรับผลจากการประชุมวิชาการผลงานวิจัย และการหารือร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายกลไกการสนับสนุนและการดำเนินการวิจัยบนพื้นที่สูง ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในกรอบแผนงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566- 2570) มีกลไกการสนับสนุนการวิจัยบนพื้นที่สูงที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือ การตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการจัดทำแผนวิจัยบูรณาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูง ในพื้นที่ที่มีความจำเพาะ เพื่อชี้เป้าให้สถาบันการศึกษาทำวิจัยสนับสนุนพื้นที่ รวมทั้งร่วมกันกำหนดโจทย์วิจัยในรายประเด็นสำคัญบนพื้นที่สูง และการวิจัยบูรณาการเชิงพื้นที่ ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย นำไปสู่การสร้างกลไกการสนับสนุนและการดำเนินการวิจัยบนพื้นที่สูงในระยะยาว ซึ่งจะทำให้นักวิจัยรับโจทย์วิจัยจากโครงการหลวงได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 ซึ่งดำเนินกิจกรรมร่วมกับโครงการหลวงภายใต้โครงการวัคซีนวัยรุ่น แก่กลุ่มเป้าหมาย เด็กและเยาวชนในพื้นที่โครงการหลวงและพื้นที่ขยายผลแบบโครงการหลวง ได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เยาวชนแลกเปลี่ยนแนวความคิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยจัดการอภิปราย “โครงการหลวง โครงการเรา สร้างสรรค์สวรรค์บนดอย” เพื่อเผยแพร่ความสำเร็จ แรงบันดาลใจในการทำงาน และแบ่งปันแนวคิดในประเด็นปัญหาอุปสรรคของชุมชนตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งหน่วยที่มีโครงการดำเนินงานร่วมกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ และ วิสาหกิจชุมชนโคกหนองนา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในการจัดเวทีชี้แจงการสร้างเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ผลิตพืชอินทรีย์และแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งของกลุ่ม ออกแบบการแปรรูปผลผลิต เชื่อมโยงการตลาดและเทคโนโลยี โดยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้จัดอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ในการผลิตพืชอินทรีย์และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ได้แก่ น้ำสลัดอาโวคาโด นมอโวคาโด น้ำจิ้มสุกี้ น้ำจิ้มซีฟู้ด การยกระดับข้าวปุก รวมทั้งการแปรรูปถั่วลิสงเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วเก๋าแก่ เป็นต้น


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ