องคมนตรีประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2567

 07 พ.ค. 2567 19:30   

 

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ เป็นประธานการประชุม และนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นคณะกรรมการและเลขานุการ ร่วมด้วยคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 33 ท่าน

องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาล และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานของมูลนิธิโครงการหลวงอย่างดียิ่ง ตลอดระยะเวลา 55 ปี โครงการหลวงดำเนินการอย่างต่อเนื่องตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดงานในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความอยู่ดีกินดีแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง จากปัญหาการปลูกฝิ่น การทำไร่เลื่อนลอยในอดีต ของราษฎรในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการหลวง 515 หมู่บ้าน ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง และตาก ได้เปลี่ยนแปลงเป็นการปลูกพืชเขตหนาว 376 ชนิด ในระบบอนุรักษ์ บนมาตรฐานอาหารปลอดภัย และระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในปีพุทธศักราช 2535 โครงการหลวงได้เปลี่ยนสภานภาพเป็นมูลนิธิ เพื่อให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ถาวรมั่นคง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล และได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง หรือชื่อย่อว่า กปส. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ด้วยรัฐบาลเห็นว่ามูลนิธิโครงการหลวงเป็นกลไกสำคัญ และเป็นศูนย์กลางของการผสานความร่วมมือในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการบนพื้นที่สูง ด้วยรูปแบบการพัฒนาแบบองค์รวม บนหลักการพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เกิดผลสำเร็จและขยายผลไปยังพื้นที่สูงอื่นอย่างต่อเนื่องภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ทำให้ขณะนี้พื้นที่ดำเนินการตามรูปแบบโครงการหลวงครอบคลุมพื้นที่สูง 12 จังหวัด 2,270 กลุ่มบ้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.98 ของพื้นที่สูงในประเทศ ผลสำเร็จจากการวิจัยทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และนวัตกรรม ได้ถ่ายทอดสู่อาชีพของเกษตรกร 183,000 ครัวเรือน ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชผิดกฎหมาย สู่อาชีพสุจริต เกิดผลิตผลที่เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศมากกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี

โครงการหลวงยังดำเนินงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดขอบเขตพื้นที่ แยกป่าให้อยู่ในส่วนที่เป็นป่า ทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก รวมทั้งฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ วางเป้าหมายสู่การสร้างชุมชนคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน คนบนพื้นที่สูงอยู่ร่วมกับป่าอย่างเหมาะสมภายใต้กฎหมาย

ผลประจักษ์ของการส่งเสริมระบบผลิตพืชปลอดภัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แทนการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งมีข้อกำหนดการห้ามเผา การไม่บุกรุกพื้นที่ผิดกฎหมาย และลดการใช้พลังงาน ได้ช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศ และน้ำ รวมทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ จากผลรายงานจุดความร้อนสะสมในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม พ.ศ. 2563 ถึง 2566 ในพื้นที่ดำเนินงานของทั้ง 2 หน่วยงาน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.98 ของพื้นที่สูงในประเทศ มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเพียงร้อยละ 10 ของจุดความร้อนทั้งหมด 49,602 จุดที่พบในพื้นที่เกษตรที่สูง จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่ารูปแบบการพัฒนาการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแบบอย่างโครงการหลวงเป็นทางออกสำคัญในการแก้ปัญหามลภาวะอย่างยั่งยืน

ในการประชุมครั้งนี้ หน่วยงานร่วมบูรณาการได้รับทราบผลความก้าวหน้าในการกำหนดโครงสร้างแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีสำหรับการพัฒนาพื้นที่สูง ภายใต้ชื่อ “การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน” พร้อมเห็นชอบแผนการวิจัยพื้นที่สูง ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567 - 2570) เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานด้านการวิจัยบนพื้นที่สูง รวมทั้งแผนการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งบนพื้นที่สูงในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และในท้ายการประชุมนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสนับสนุนงานของมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมศึกษาเรียนรู้รูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านมลภาวะสำคัญของประเทศ และสนับสนุนการเป็นสถาบันการเรียนรู้ของมูลนิธิโครงการหลวง เป็นการถวายความจงรักภักดีและร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบในปีพุทธศักราช 2567 นี้

    

    

    



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ