กิจกรรมเสวนาในวาระเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 ส.ค. 67

 14 ส.ค. 2567 09:34   


วันที่ 11 สิงหาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกิจกรรมเสวนา “ตามรอยพระราชปณิธาน สืบสาน..งานหัตถกรรมชนเผ่า จากเส้นใยธรรมชาติ สู่การประยุกต์ใช้ร่วมสมัย” ในวาระเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2567 โดยมี ดร.อัญชัญ ชมพูพวง ​ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวงเชียงใหม่ นางสาวนภัสษา แปทู ​เยาวชนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และนางสาว ณัชชา หมอกแสง​เยาวชนจากหมู่บ้านนอแล สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพูดคุย ณ เวทีกิจกรรม งานโครงการหลวง 55 โซนเซ็นทรัล คอร์ต ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

องคมนตรีและผู้ร่วมเสวนาจากมูลนิธิโครงการหลวงได้ร่วมกันถ่ายทอดเรื่องราวจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงในมิติความอยู่ดีกินดี ห่างไกลยาเสพติด พร้อมไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นำมาสู่พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า” ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในงานหัตถกรรม และการใช้ประโยชน์จากพืช เช่น ลินิน หรือกัญชง มีพระราชกระแสรับสั่งว่า เมื่อพิจารณาข้อดีและตัดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ก็จะสามารถส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ให้เส้นใยที่มีคุณภาพ และสมควรศึกษาและให้เกษตรกรชาวเขาปลูกกัญชง เพื่อใช้เส้นใยผลิตเครื่องนุ่งห่ม และจำหน่ายเป็นรายได้

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2537 เป็นต้นมา โครงการหลวงได้ส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่กลุ่มสตรีชนเผ่า โดยเริ่มจากการปั่นเส้นด้าย และทอผ้าจากเส้นใยลินิน พืชส่งเสริมเป็นอาชีพทางเแก่เกษตรกร ต่อมาในครั้งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสดจพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพอพระราชหฤทัยในงานหัตถกรรมผ้าทอของชนเผ่าปกาเกอะญอที่นำมาถวาย จึงพระราชทานเงินจำนวน 500,000 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนชิ้นงานเหล่านั้น โครงการหลวงได้นำเงินไปต่อยอดเป็นกองทุนในการพัฒนาหัตถกรรมชนเผ่าในพื้นที่โครงการหลวงจนทำให้เงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็นสามล้านบาทในเวลาต่อมา และทำให้กลุ่มสตรีชนเผ่าเห็นความสำคัญของงานหัตถกรรม ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประจำเผ่า และยังสร้างรายได้เสริมแก่ครัวเรือน งานหัตถกรรมชนเผ่าในพื้นที่โครงการหลวงจึงดำเนินอย่างต่อเนื่องมาในปัจจุบัน

จากพระราชดำรัสเรื่องกัญชงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้นำมาสู่การวิจัยและพัฒนาการปลูกกัญชงอย่างจริงจัง ในปีพุทธศักราช 2548 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และหน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ กลุ่มผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องสำอาง กลุ่มผลิตภัณฑ์สารสกัด และกลุ่มเส้นใยผสมระหว่างกัญชงกับเส้นใยธรรมชาติเพื่อผลิตและเป็นเครื่องนุ่งห่ม โดยโครงการหลวงเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกัญชงเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นการผลิตเมล็ดเพื่อสกัดน้ำมัน และผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกต่อ ปัจจุบันเกษตรกรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ปลูกกัญชงทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 22 ราย โดยการส่งเสริมด้านเส้นใย โครงการหลวงดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2563 จนถึงปี 2565 จึงได้เริ่มดำเนินการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไปพร้อมๆ กับการศึกษาแนวทางการลดต้นทุน พันธุ์กัญชงที่ส่งเสริมเกษตรกรนั้น เป็นพันธุ์ที่โครงการหลวงร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2548 ทำให้มีปริมาณสาร THC ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และขึ้นทะเบียนพันธุ์แล้ว จำนวน 8 พันธุ์ รวมทั้งยังมีการพัฒนาสายพันธุ์ที่มีปริมาณสาร CBD เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5-15 % และตั้งเป้าหมายพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มี CBD สูงถึง 20% ภายในปีพาธศักราช 2570 กัญชงจึงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีอนาคต ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG

ในการเสวนาครั้งนี้ ได้มีเยาวชนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งได้รับทุนไปเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประเทศจีน มาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดในการพัฒนาต่อยอดรูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความหลายหลาย ในภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ “ใหม่” แต่ไม่ “ทิ้ง” ตัวตนชนเผ่าปกาเกอะญอ พร้อมทั้งยังมีเยาวชนชาวดาราอั้ง จากหมู่บ้านนอแล สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น “ครูช่าง” ในการสร้างสรรค์ลวดลายบนผ้าทอจากจินตนาการและแรงบันดาลใจ โดยทำงานร่วมกับนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ผลงานจึงมีเอกลักษณ์ของชาวดาราอั้ง ผสมผสานกับจินตนาการของเด็ก นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสในการทางไปศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในฐานะเยาวชนเอเอฟเอส ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นระยะเวลา 1 ปี ในปีการศึกษา 2567-2568 ซึ่งจะได้นำผลงานที่สร้างสรรค์ไปเผยแพร่แก่ชาวโลกอีกด้วย

จากน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สตรีชนเผ่าบนพื้นที่สูงจึงมีอาชีพที่ช่วยเสริมสร้างรายได้แก่ครอบครัว และเป็นส่วนสำคัญในการสืบสานวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของตน และยังก้าวสู่ความเป็นสากล ผลิตภัณฑ์ชนเผ่าได้ก้าวสู่ความร่วมสมัย นำความยั่งยืนมาสู่ชุมชนบนพื้นที่สูง



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ