องคมนตรีร่วมประชุมโครงการบริหารจัดการพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์

 12 ก.ย. 2567 09:25   


วันที่ 11 กันยายน 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปร่วมประชุมโครงการบริหารจัดการพื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 ณ ห้องประชุมกรมชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนจากสำนักงานปฏิรูปที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะทำงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม

องคมนตรีได้กล่าวแก่ที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า มีพระราชกระแสรับสั่งให้องคมนตรีออกตรวจเยี่ยมโครงการในพระราชประสงค์ และโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเห็นผลประจักษ์ของความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ ด้วยการดำเนินงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การวิจัย การพัฒนาอาชีพ การดำเนินงานการตลาด รวมไปถึงการนำผลผลิตไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยพระราชพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้จัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปจากแห่งแรกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขยายออกไปอีก 3 แห่งในจังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ นี้ มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร และภัยแล้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้กรมชลประทานเข้าไปสำรวจ จัดสร้างแหล่งน้ำ จัดที่ทำกิน พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ต่อมาในปี พ.ศ.2525 จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 4 เพื่อรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรเข้าโรงงาน แต่ได้ปิดกิจการลงเมื่อปี พ.ศ.2543 เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้รับมอบจากโครงการหลวงในการดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการวิจัยสาธิต และผลิตสินค้าชุมขน อาทิ น้ำเสาวรส กระเจี๊ยบเข้มข้น ข้าวกล้องงอก ชามะขามป้อม กล้วยตาก และการทำกระเช้าของขวัญ

เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติองค์นายกกิตมศักดิ์ทั้งสองพระองค์ และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ประกอบกับการครบรอบดำเนินการ 55 ปี โครงการหลวงจึงจะขยายผลรูปแบบการพัฒนาไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น นอกเขตพัฒนาทางภาคเหนือ พื้นที่โนนดินแดงนี้จึงเป็นพื้นที่พัฒนาแห่งแรกที่โครงการหลวงจะดำเนินการในที่ราบ และเป็นสถานีแรกที่อยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ชื่อ “สถานีวิจัยการเกษตรและพัฒนาโครงการหลวงโนนดินแดง” การเริ่มต้นพัฒนาโดยหลักการพระราชทาน “เมื่อไม่รู้ต้องวิจัย” และการทำงานแบบ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และความสมดุล โดยมีแผนดำเนินการแบบองค์รวมใน 3 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ เริ่มจากการสำรวจและประเมินโอกาสด้านการตลาด พร้อมกับการออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ วิจัยและพัฒนาพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสม นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีจากบทเรียนของโครงการหลวงมาขยายผล มิติสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำแปลงตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายใต้ระบบวนเกษตร พร้อมไปกับการพัฒนากลุ่มเยาวชนผู้นำในการจัดการฟื้นฟูอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มิติสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งของคนและชุมชนบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมทักษะความรู้และการจัดการ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน เป้าหมายเพื่อสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ชุมชนโดยรอบสามารถพึ่งพาตนเอง เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน เกิดศูนย์เรียนรู้การวิจัยและพัฒนาที่ครบวงจร หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม องคมนตรีได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่ต่าง ๆ และพบปะกับเกษตรกรในชุมชนก่อนเดินทางกลับ



  

  

  


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ