การประชุมวิชาการ ผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน

 30 พ.ค. 2567 23:20   

วันที่ 30 พฤษภาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “ผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน” และบรรยายพิเศษในเรื่องโครงการหลวง ณ อุทยานหลวงพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ผู้ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด งานของโครงการหลวงให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติโดยรวมอย่างต่อเนื่อง นำสู่ความยั่งยืน และสนองในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2512 “หากไม่รู้อะไร ให้ทำงานศึกษาวิจัย” โครงการหลวงจึงบุกเบิกวิจัย หาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สร้างนวัตกรรม และองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาบนพื้นที่สูง โดยการผสานความร่วมมือของเหล่าคณาจารย์ นักวิชาการ ที่อาสาสมัครทำงานถวาย ก่อเกิดคุณูปการต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ประจักษ์ มีพันธุ์พืชที่ขึ้นทะเบียนพันธุ์ในนามโครงการหลวงปัจจุบัน จำนวน 26 ชนิด 90 สายพันธุ์ ผักกาดหอมห่อ มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี เสาวรส เบญจมาศ และกาแฟ คือตัวอย่างพืชจากเขตหนาวที่เข้ามาปลูกในประเทศจนคนไทยเห็นกันจนชินตา ผลการประเมินมูลค่าความสำเร็จและประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ จากการวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์ สรุปได้ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจ มีพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มากกว่า 500 รายการ ส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรมากกว่า 1 แสน 3 หมื่นครัวเรือน สร้างมูลค่าทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประเทศกว่า 6 แสนล้านบาท พืชที่สร้างรายได้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มพืชผัก รองลงมาเป็นกลุ่มไม้ผล ไม้ดอก พืชเครื่องดื่ม พืชไร่ ประมง และปศุสัตว์ ตามลำดับ ด้านสังคม ได้พัฒนาสังคมบนพื้นที่สูงเพื่อความยั่งยืน ลดปัญหายาเสพติด พัฒนาการศึกษา พัฒนาองค์กรชุมชน และพัฒนาด้านสุขภาวะองค์รวมของชุมชน สร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวม 2 แสน 7 หมื่นล้านบาท ด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน ผ่านโครงการปลูกป่าชาวบ้าน โครงการสวมหมวกให้ดอย และการปลูกป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ไม้โตเร็ว สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือ 16,768.85 ไร่ เป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ 4 แสนล้านบาท และยังมุ่งภารกิจสูงสุดสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปีพุทธศักราช 2593 ขณะนี้ประชาชนบนพื้นที่สูงได้รับประโยชน์จากโครงการหลวง 2,300 กลุ่มบ้าน ในพื้นที่ 123 อำเภอ 18 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 54.70 ของพื้นที่สูงทั้งประเทศ โดยมูลนิธิโครงการหลวงมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เป็นศูนย์กลางของการวิจัยพัฒนา และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานสนับสนุน และขยายผลสำเร็จไปสู่พื้นที่สูงอื่นทั้งในและต่างประเทศ

    

    

  

  

  

    

    

      

      



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ