องคมนตรีร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และประชุมมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนมิถุนายน 2567

 21 มิ.ย. 2567 09:44   

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 9/2567 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

การประชุมประจำเดือนมิถุนายนนี้ องคมนตรีได้เร่งติดตามผลการดำเนินงานของพื้นที่พัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวง โดยการต่อยอดการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สำคัญ คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 8 ปี ช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม คือ การทำไร่หมุนเวียน และปลูกฝิ่น อีกทั้งปัญหาสภาพพื้นที่ลาดชัน เป็นดินเหนียวปนทราย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ได้เริ่มด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยหลักวิชาการ โดยความร่วมมือของภาครัฐ สำหรับการปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำการเกษตร ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของโครงการหลวงนั้น จำเป็นต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของเกษตรกร วิธีการในยุคแรกจึงเริ่มต้นด้วยการพูดคุย ชักชวนชาวบ้านที่เคยปลูกฝิ่นให้หันมาทดลองปลูกพืชเมืองหนาวที่ให้ราคาสูงกว่า โดยเริ่มจากกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเล็ก ๆ นำร่อง 10 ราย ปลูกพืชผัก ผลไม้ รายละ 2 ไร่ ในพื้นที่ที่จัดสรรให้รวม 20 ไร่ พืชชนิดแรก ๆ ที่ทดลองปลูก คือ คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ ผักสลัด ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น และยังมี สตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นผลไม้ราคาสูง โดยเจ้าหน้าที่โครงการหลวงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ และช่วยแก้ปัญหา เมื่อเริ่มมีผลผลิต และนำออกจำหน่าย เกิดรายได้ที่สูงกว่าฝิ่น คนอื่น ๆ จึงเริ่มสนใจและทำตาม ในปี พ.ศ. 2560 ไร่ฝิ่นจึงหมดไปจากพื้นที่ที่โครงการหลวงเข้าไปดำเนินการ ปัจจุบัน พืชผลที่สร้างรายได้หลัก ได้แก่ เสาวรส สตรอว์เบอร์รี เคพกูสเบอร์รี เบบี้ฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง ขณะเดียวกันโครงการหลวงเลอตอยังจัดทำแปลงทดสอบ สาธิต พันธุ์พืชทางเลือก พร้อมทั้งเป็นแปลงตัวอย่างแก่เกษตรกร สำหรับการส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตร หัตถกรรมเป็นงานสำคัญในการสร้างอาชีพแก่กลุ่มสตรีและเยาวชน โครงการหลวงเลอตอได้จัดรวมกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากพืชท้องถิ่น จัดสร้างอาคารหัตถกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อรวบรวมและจัดแสดงผลิตภัณฑ์หัตถกรรมชนเผ่าปกาเกอะญอในพื้นที่ โดยการประชุมครั้งนี้ องคมนตรีได้มอบนโยบายเพื่อนำสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน คือ การสร้างครู ด้วยการคัดเลือกผู้ที่มีความสามารถจากกลุ่มสตรีในพื้นที่ พัฒนาทักษะและให้ความรู้ และทำให้ศูนย์หัตถกรรมฯ เป็นสถานที่ฝึกหัดอาชีพ สร้างตัวอย่างการพัฒนาหัตถกรรมแก่กลุ่มสตรี เกิดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนี้ ในการสร้างงานหัตถกรรมของโครงการหลวงเลอตอ ยังต่อยอดด้วยการนำเส้นด้ายกัญชงมาทอเพื่อทดแทนฝ้าย เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าฝ้ายเกือบ 100 % การปลูกฝ้ายใช้น้ำมากกว่ากัญชงถึง 3 เท่า และใช้สารเคมีมาก สำหรับปัญหาที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การจัดการขยะ ศูนย์ฯ เลอตอ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชน ได้วางแผนการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยจะนำเตาเผาขยะเคลื่อนที่มาใช้ในชุมชน สำหรับแผนการจัดการขยะในระยะยาว จะมีการรณรงค์การคัดแยกขยะในครัวเรือน การรีไซเคิลขยะเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

หากย้อนกลับไปในอดีตในรัชสมัย ร.9 พื้นที่ดำเนินการของโครงการหลวงรวมทั้งสิ้น 38 แห่ง เริ่มต้นขึ้นด้วยบริบทปัญหาที่แตกต่าง แต่มีการดำเนินการจัดการปัญหาด้วยแนวทางพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา  อาทิ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2521 เพื่อแก้ปัญหาฝิ่น ปัจจุบันเกษตรกรสมาชิกของโครงการหลวงแม่แฮ 480 ราย ปลูกพืชผัก ไม้ผล และกาแฟ แบบประณีตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย มีรายได้เฉลี่ย 153,710.49 บาทต่อครัวเรือน ไม่มีฝิ่นในพื้นที่ เป็นตัวอย่างศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบนพื้นที่สูง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2526 เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ปัจจุบันประชากรรวม 2,676 ครัวเรือน อยู่อาศัยในหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 153,628 บาท /ครัวเรือน มุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้การปลูกฟักทองอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นพืชส่งเสริมที่สำคัญ ตัวอย่างของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงในรัชสมัยของ ร.9 และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ในรัชกาลปัจจุบัน จึงเป็นบทพิสูจน์แนวทางการพัฒนาที่มุ่งตอบโจทย์ปัญหา นำสู่ความยั่งยืน

  

  

  

  



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ