องคมนตรีเป็นประธานในการแถลงข่าวเปิดสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง

 05 ก.ค. 2567 12:53   

วันที่ 3 กรกฎาคม 67 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานในการแถลงข่าวการเปิดสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับผู้แถลงของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

ด้วยปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีมหามงคลของประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่พร้อมแสดงความจงรักภักดี ในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา มูลนิธิโครงการหลวงเป็นหนึ่งองค์กรที่ได้เตรียมจัดกิจกรรมสำคัญเพื่อวาระดังกล่าว โดยการแถลงข่าวการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวง เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์นายกกิตติมศักดิ์ ผู้ทรงเป็นทศมมหาราชา ทรงเป็นต้นแบบของความกตัญญู และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย จากพระปฐมบรมราชโองการ สืบสาน รักษา ต่อยอด และจะปกครอง แผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่อาณาราษฎร ในครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้โดยเสด็จฯ พระบรมราชชนก และพระราชมารดา ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมของโครงการหลวงในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา และเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในปี 2559 ได้พระราชทานพระบรมราโชบายให้สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ให้เป็นไปตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และได้พระราชทานศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ขึ้นที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระราชทานชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” มีความหมายว่า เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ที่สร้างขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ให้เป็นไปตามพระราชดำริของพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็น ทศมมหาราชา ผู้สืบสานศาสตร์ ชนกาธิเบศรดำริ พระมหากรุณาจึงหลั่งไหลสู่แผ่นดินอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 55 ปี โครงการหลวงมีผลงานเชิงประจักษ์ในการช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก จากจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ในการแก้ปัญหาของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยไม่แทรกแซงราชการ โครงการหลวงจึงเกิดขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ ในปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นแบบในการใช้การพัฒนาทางเลือกแก้ปัญหา โดยมีสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นพื้นที่ดำเนินการแห่งแรก และพระราชทานหลักการทำงานแก่คณะอาสาสมัครที่เข้ามาถวายงาน ได้แก่ อาจารย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลจากการดำเนินงานตลอดรัชสมัยได้ปรากฎผลงานมากมายจนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะปัญหาฝิ่น องค์การสหประชาชาติได้ปลดรายชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศที่ผลิตฝิ่นในปี พ.ศ.2544 เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเดินทางมาถวายรางวัลด้วยตนเอง และให้การยอมรับหลักการพัฒนาทางเลือกบนพื้นที่สูง หรือ AD ของประเทศไทย และแนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำไปประยุกต์ใช้ กระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว งานต่าง ๆ ของโครงการหลวงจึงพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุข ก่อเกิดศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอเป็นศูนย์พัฒนาแห่งแรกในรัชสมัย และเป็นแห่งที่ 39 ของมูลนิธิโครงการหลวง การพัฒนาของมูลนิธิโครงการหลวงจึงเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 รัชกาล

แนวทางปฏิบัติที่ดีภายใต้โครงการหลวงโมเดล ที่สั่งสมมาตลอดระยะ 55 ปี พร้อมถ่ายทอดและเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง จึงนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้มูลนิธิโครงการหลวงขึ้น เป็นการพัฒนาต่อยอดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ สถานีเกษตรหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และพื้นที่ขยายผลแบบโครงการหลวง ให้เป็นแหล่งของการศึกษาเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับทุกคนในโลก

  

  

  

  

    

    

  

  

  

  



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ