องคมนตรีตรวจเยี่ยมและติดตามงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ในจังหวัดเชียงใหม่

 11 ก.ค. 2567 16:07   

วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมตรี เลขาธิการ และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ พื้นที่ดำเนินงาน 1 ใน 39 แห่ง ของมูลนิธิโครงการหลวง ตั้งอยู่ในเขตบ้านขุนแปะ ตําบลบ้านแปะ อําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเมื่อปี พ.ศ.2527 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรชนเผ่าปกาเกอะญอและทรงทราบถึงปัญหาความยากจน การบุกรุกป่าเพื่อปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย และในปีเดียวกันพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรภูมิประเทศเพื่อสำรวจแหล่งน้ำ และพระราชทานพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานพิจารณาสร้างฝายทดน้ำในห้วยขุนแปะ พร้อมทั้งบ่อพักน้ำเพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกของราษฎรบ้านขุนแปะกับหมู่บ้านใกล้เคียง พร้อมทอดพระเนตรทำเลที่มีโครงการจะสร้างอ่างเก็บน้ำขุนแปะ ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ เพื่อส่งเสริมพืชเขตหนาวที่มีรายได้มากกว่าฝิ่นทดแทนให้แก่ราษฎร และให้สามารถทำกินในพื้นที่อย่างถาวร ปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรแปลงทดสอบสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ใหม่คือ พันธุ์พระราชทาน 50 และ 70 ซึ่งให้ผลผลิตดี รวมทั้งแปลงไฮเดรนเยีย พระราชทานวโรกาสให้ชาวปกาเกอะญอ 61 คนที่เลิกเสพฝิ่น เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชทานคำแนะนำว่า การที่จะช่วยลดปัญหายาเสพติดได้อย่างควร ต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะครู ซึ่งสามารถให้การอบรมสร้างจิตสำนึกแก่บุตรหลานซึ่งเป็นเยาวชน และนำไปขยายผลแก่พ่อแม่พี่น้องใกล้ตัวได้อย่างมีผล พร้อมนี้ได้พระราชทานเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงเรียนบ้านขุนแปะ มูลนิธิโครงการหลวงจึงนำเงินดังกล่าวไปจัดตั้งเป็นกองทุนพัฒนาโรงเรียนขุนแปะให้เป็นโรงเรียนต้นแบบบนพื้นที่สูง ปัจจุบันโครงการหลวงขุนแปะรับผิดชอบพื้นที่ 15 กลุ่มบ้าน ประชากรเผ่าปกาเกอะญอ และม้ง 830 ครัวเรือน รวม 3,266 คน ได้รับการส่งเสริมอาชีพปลูกผัก สมุนไพร ผลไม้ พืชไร่ ไม้ดอกเมืองหนาว และกาแฟอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 62,000 หมื่นบาท/ปี สูงกว่าเกณฑ์ชี้วัดความยากจนของประเทศ รวมทั้งยังจัดระเบียบพื้นที่โดยความร่วมมือของหน่วยงานภายใต้กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ราษฎรอยู่ร่วมกับป่า สามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง ไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีปัญหาการเกิด Hot Spot และมุ่งสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายของมูลนิธิโครงการหลวง

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน องคมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย บ้านห้วยส้มป่อย ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่พัฒนาของโครงการพัฒนาพื้นที่สูง ไทย-นอร์เวย์ ร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ ในปี พ.ศ. 2543 มูลนิธิโครงการหลวงได้ตั้งขึ้นเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย เพื่อส่งเสริมการเกษตรที่ถูกหลักวิชาการแก่ราษฎร พร้อมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากพื้นที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลรวมกับลำน้ำสายอื่นเป็นแม่น้ำปิง ปัจจุบันเกษตรกรเผ่าปกาเกอะญอ และม้ง 828 ครัวเรือน รวม 3,388 คน ประกอบอาชีพปลูกพืชผักภายใต้ระบบมาตรฐาน GAP และระบบเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตหลัก ได้แก่ พริกหวาน กะหล่ำปลีหวาน พืชตระกูลสลัด อาโวกาโด พลับ เคพกูสเบอร์รี และกาแฟ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ความยากจน คือ 178,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นอกจากนี้โครงการหลวงห้วยส้มป่อยยังได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดิน

จากนั้นองคมนตรีได้เดินทางไปยัง “หน่วยวิจัยประมงบนพื้นที่สูง” ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ เพื่อติดตามแนวพนังป้องกันน้ำท่วมบ่อเลี้ยงปลาเทราต์ โดยเมื่อปีพ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริการเปลี่ยนทรัพยากรน้ำเย็นให้เป็นผลผลิตที่มีมูลค่า จึงเป็นที่มาของงานวิจัยและส่งเสริมประมงบนพื้นที่สูงของมูลนิธิโครงการหลวง ปี พ.ศ. 2540 โครงการหลวงร่วมกับนักวิชาการจากกรมประมงทดลองเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์โดยนำเข้าไข่ปลามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเนปาล และสามารถเพาะพันธุ์ได้เองสำเร็จในปี พ.ศ.2542 และยังมีการเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน โดยหลักการเลี้ยง “น้ำเย็น น้ำไหล น้ำใสสะอาด” นอกจากน้ำเย็นอุณหภูมิไม่เกิน 24 องศาเซลเซียสแล้ว ปลาเหล่านี้ยังต้องอาศัยในน้ำที่สะอาด ไม่สารเคมีเจือปน จึงเป็นเครื่องมือวัดความปลอดภัยของระบบเกษตรในพื้นที่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสามารถชดเชยการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะนี้โครงการหลวงสามารถผลิตไข่คาร์เวียจากปลาสเตอร์เจียน ซึ่งผลิตภัณฑ์มีคุณภาพทัดเทียมผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ราคาถูกกว่า เป็นการช่วยเศรษฐกิจของชาติ

  

  

  

  

  

  

  

  

  

  

  



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ