องคมนตรีประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 12/2565

 15 ก.ย. 2565 03:53   


วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 12/2565 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จังหวัดเชียงใหม่

องคมนตรีได้ติดตามความก้าวหน้าเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง โดยเฉพาะการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งต้องใช้การประสานความร่วมมือกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมุ่งเน้นการสร้างเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นแกนนำพัฒนาต่อยอด โดยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูง ส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง และจะเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติต่อไป รวมทั้งในเรื่องการปลูกสร้างป่าทดแทนในพื้นที่ที่ถูกทำลาย โดยช่วงนี้ในประเทศมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก ซึ่งเกิดประโยชน์กับต้นไม้ที่ได้ร่วมกันปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ โดยความร่วมมือกับ ปตท และ กฟผ ซึ่งปลูกไปแล้วจำนวน 548 ต้น และมีการรอดตายกว่า 96.17 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลลัพธ์ที่ตรงตามพระราชประสงค์ในการพลิกฟื้นพื้นที่สู่ความอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการบริหารจัดการด้านกาแฟโครงการหลวง ในรอบการผลิต พ.ศ. 2565-2566 โดยที่โครงการหลวงส่งเสริมเกษตรกรปลูกกาแฟอะราบิกาในระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างครบวงจร ให้ความสำคัญกับปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตกาแฟ และมุ่งเน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถค้นคว้าวิจัยหาสายพันธุ์กาแฟอะราบิกาที่มีคุณภาพให้ผลผลิตดี มีความหลากหลาย จดทะเบียนสายพันธุ์กาแฟคุณภาพเยี่ยมแล้ว จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ RPF-C1, RPF-C2, RPF-C3 และ RPF-C4 แปลงส่งเสริมกาแฟของเกษตรกรโครงการหลวงได้พัฒนาจากรูปแบบการปลูกกาแฟในระบบป่าไม้ควบคุมด้วย Bird friendly และระบบกาแฟในป่าร้อนชื้น ซึ่งเป็นระบบการปลูกที่เชื่อมโยงความสมดุลของป่าไม้ ดิน และแหล่งน้ำ พื้นที่ปลูกกาแฟของโครงการหลวงทุกแห่งอยู่บนความสูง 1,000-1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นระบบปลูกภายใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ ผสมผสานกับพืชเศรษฐกิจอื่น และไม้ป่า จึงทำให้อุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันไม่มาก สามารถยืดอายุของต้นกาแฟ ติดดอก ออกผลสม่ำเสมอ และยังทำให้ผลกาแฟสุกช้าลง ช่วยเพิ่มการสะสมธาตุอาหารในเมล็ดกาแฟ ระบบการปลูกยังอยู่ภายใต้มาตรฐาน จีเอพี (Good Agriculture Practices) การเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟของเกษตรกรโครงการหลวงใช้วิธีเด็ดด้วยมือทีละผลด้วยความประณีต เลือกเก็บเกี่ยวเฉพาะผลสดที่สุกพอดี จึงได้กาแฟที่มีคุณภาพเยี่ยม ลดการสูญเสียสารกาแฟ เมล็ดกาแฟผ่านการตรวจสอบทั้งสารเคมีตกค้าง และจุลินทรีย์ รวมทั้งยังมีการทดสอบคุณภาพกาแฟคั่วโดยการชิม และได้รับการรับรองโดยมีคะแนนไม่น้อยกว่า 80 ตามมาตรฐานกาแฟชนิดพิเศษของสมาคมกาแฟชนิดพิเศษสหรัฐอเมริกา (SCAA) หลักในการรับซื้อผลผลิตกาแฟของโครงการหลวงที่สำคัญคือ เกษตรกรจะต้องได้รับผลตอบแทนสูงสุด และเป็นธรรมตามสภาวะราคาโลก และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟหลากหลาย ทั้งกาแฟแคปซูล, กาแฟดริป จากแหล่งผลิตคุณภาพ เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย กาแฟคั่ว รสเข้มข้น ดอยสามหมื่น และรสกลมกล่อมแม่ลาน้อย กาแฟอะราบิกาจึงเป็นหนึ่งในพืชพระราชทาน ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในมิติเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เกิดรายได้หมุนเวียนทั้งในระดับครัวเรือน และระดับประเทศ สอดรับนโยบายของรัฐบาลไทยที่กำหนดเป้าหมายการผลิต ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio Circular) และผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) และสิ่งที่มากกว่าก็คือ เกิดการเกื้อหนุนต่อทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร สมดังพระราชประสงค์และพระราชปณิธาน นำสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม



 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ