พิธีเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง "ชนกาธิเบศรดำริ"

 11 ก.พ. 2566 13:58   


วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ข้าราชการ บุคลากรของมูลนิธิโครงการหลวง ราษฎรชาวไทยภูเขา และประชาชนทั่วไป เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

 

 

เวลา 18.42 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ในการนี้ ทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นบนเนื้อที่ 21 ไร่ 9 ตารางวา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับการวิจัยและพัฒนางานบนพื้นที่สูง ทั้งยังจะเป็นศูนย์กลางการวิจัย การบุกเบิกองค์ความรู้ใหม่เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้งานโครงการหลวงเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เริ่มสร้างปี 2563 แล้วเสร็จปี 2565 พระราชทานนามว่า“ชนกาธิเบศรดำริ” มีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะสร้างประโยชน์ทั้งแก่ประชาชนบนพื้นที่สูง ประชาชนในพื้นที่โดยรอบและประชาชนโดยรวมของประเทศ

  

 

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการหลวงจุดเล็กๆ สู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ จัดแสดงผลสำเร็จจากการดำเนินงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 ซึ่งพัฒนาการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเผยแพร่องค์ความรู้ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยัง เกิดผลงานวิจัยพันธุ์พืชหลากหลายชนิด มีผลิตภัณฑ์ เครื่องมือ และนวัตกรรมใหม่ๆ การพัฒนาหัตถกรรมและกัญชง ตั้งแต่ปี 2536 มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมหัตถกรรมชนเผ่าแก่กลุ่มสตรีและกลุ่มแม่บ้าน ส่วนกัญชงขึ้นทะเบียนพันธ์ุได้แล้ว 8 พันธ์ุ พร้อมส่งเสริมเกษตรกรปลูก แปรรูป และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชงอย่างถูกต้อง, พันธุ์พืชพระราชทานได้รับพระราชทานเอเดลไวส์ 10 กระถาง และเจนเทียน 4 กระถาง เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนา ปัจจุบัน ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิธีการขยายพันธุ์เอเดลไวส์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนเจริญเติบโตและออกดอกได้มากกว่า 4,450 ต้น ส่วนเจนเทียน เป็นพันธ์ุพืชใหม่อยู่ระหว่างการศึกษาและขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทั้งยัง มีโรงเรือนรวบรวมพันธุ์พืชพระราชทาน "สิริวัณณวรี Botanical Garden" มีพันธุ์พืชพระราชทานกว่า 40 สายพันธุ์ ในการนี้ ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารศูนย์วิจัยฯ มีอาคารทำการ 7 หลัง ได้แก่ อาคารอำนวยการ อาคารปฏิบัติการ 1 และ 2 อาคารอารักขาพืช อาคารอาคารเมล็ดพันธุ์และแปรรูปสมุนไพร อาคารเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพืช และ อาคารดาต้า เซ็นเตอร์

 

 

พร้อมกันนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเลอตอ จังหวัดตาก รวมถึงชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอญอซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนางานโครงการหลวงเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูง ตลอดจนราษฎรทั่วประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีรายได้ที่มั่นคง

 

 

 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ