องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงาน ประจำเดือนมิถุนายน 2566

 09 มิ.ย. 2566 07:26   


วันที่ 8 มิถุนายน 2566 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมประจำเดือนของมูลนิธิโครงการหลวง โดยรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน โดยให้คำแนะนำเกษตรกรในระบบปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่ลาดชัน ปรับปรุงบำรุงดินด้วยพืชตระกูลถั่ว ร่วมไปกับการจัดฝึกอบรมผู้นำเกษตรกร และอบรมหมอดินอาสา เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้การจัดการดินอย่างยั่งยืน ในด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพกลุ่มเยาวชนวัคซีนวัยรุ่นชนเผ่าป้องกันยาเสพติด เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้

 

โดยมีแกนนำเยาวชนจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 6 แห่ง เข้าร่วมกิจกรรม และแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับประเด็นปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และร่วมกันจัดทำคู่มือวัคซีนวัยรุ่นโครงการหลวงป้องกันยาเสพติด โดยแบ่งหลักสูตรออกเป็น 4 กล่อง ได้แก่ กล่องรู้และเท่าทันปัญหา กล่องเสริมสร้างทักษะชีวิต กล่องพัฒนาศักยภาพ เติมฝันสร้างอนาคต และกล่องแบ่งปันสู่ชุมชน ในด้านการอบรมความรู้ในงานอาชีพ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมสนับสนุนการอบรมการผลิตปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุแก่ผู้ปลูกชาอินทรีย์ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้กลุ่มแปรรูปผ้าทอกี่เอวบ้านหนองเต่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าทอกะเหรี่ยงบ้านสันม่วง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมใหม่ ๆ เช่น พวงกุญแจ กระเป๋าสะพาย กระเป๋าย่ามลายปักต่ะชะแอะ ที่มีเอกลักษณ์ชุมชนชนเผ่า ตอบโจทย์ความต้องการ และเพิ่มการขยายโอกาสทางการตลาดเป็นการสนองในพระราชประสงค์ของการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคง และไม่เกิดการโยกย้ายถิ่น

 ในบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรีได้ประชุมติดตามงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อยอดผลงานวิจัยสู่การแปรรูป จนเกิดผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่อย่างต่อเนื่อง จากต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าที่มีหลากหลายชนิด นำมาสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดอกไม้แห้งและบุหงา โดยการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ดอกไม้แห้งเพื่อศึกษาวิจัย จนพบว่าพืชดอกไม้แห้ง 4 ชนิด คือ หญ้าหางกระต่าย จิ๊บโซฟิลล่า ใบแบงเซีย อะคิเลีย เหมาะสมแก่การส่งเสริมเกษตรกร และได้ขยายสู่การนำวัชพืชตามธรรมชาติมาเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บุหงาและไม้ประดับแห้ง โครงการหลวงยังคำนึงถึงการสร้างความคุ้มค่าจากผลผลิตเหลือใช้ เช่น เศษผัก ผลไม้ จึงได้เกิดกลุ่มผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยไฮโดรโพนิกส์ และปุ๋ยมูลไส้เดือนดิน เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์แปรรูปจำหน่ายแก่ประชาชน รวมทั้งเปิดเป็นจุดถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจ


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ