กิจกรรมการปลูกและบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการห้วยน้ำขุ่น

 15 ก.ค. 2566 18:32   


พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดกิจกรรมการปลูกและบริหารจัดการป่าอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการปลูกป่าวนเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของมูลนิธิโครงการหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. คณะผู้บริหาร และประชาชนในพื้นที่ร่วมกิจกรรม ในโอกาสนี้ องคมนตรีได้มอบกล้าไม้ทุเรียนแก่เกษตรกรจำนวน 20 ราย พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ ปลูกต้นแมคคาเดเมีย พร้อมวางก้อนหินบนพื้นที่ที่จัดสร้างเป็นฝายชะลอน้ำ โดยผู้ที่เข้าร่วมในพิธี พร้อมเกษตรกรในพื้นที่ ได้ร่วมกันปลูกไม้พี่เลี้ยง ประกอบด้วย กล้วยพันธุ์พื้นเมือง แมคคาเดเมีย บ๊วย ไผ่ซางหม่น และ ลำไย รวมพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 12 ไร่

 

โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม โดยมูลนิธิโครงการหลวง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ และสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศน์บนพื้นที่สูง เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจในระบบวนเกษตรที่สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรควบคู่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่นนับเป็นหนึ่งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 4 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ โดยในปี พ.ศ. 2565 มีพื้นที่ปลูกป่าในโครงการแล้ว 119 ไร่ โดยที่การปลูกป่าให้ยั่งยืนนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เพื่อให้ต้นไม้รอดตายจากความเสี่ยง ทั้งการขาดน้ำ ปัญหาไฟป่า รวมถึงขาดการดูแลเอาใจใส่ การวางแผนการดูแลรักษาหลังการปลูกอย่างต่อเนื่องและการติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งสำคัญของระบบการบริหารจัดการป่าให้ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างความชุ่มชื้นแก่พื้นที่ ด้วยฝายชะลอน้ำ ระบบการกระจายน้ำ รวมถึงการมีไม้พี่เลี้ยง ได้แก่ ต้นกล้วย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น และร่มเงาแก่ไม้ป่าและไม้เศรษฐกิจในระยะแรก ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้ต้นไม้มีอัตราการรอดตายเพิ่มขึ้น

จากแผนการขยายพื้นที่ป่าวนเกษตร 209 ไร่ ของศูนย์ฯ ห้วยน้ำริน ในปี 2566 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวง และ กฟผ. เตรียมพร้อมสู่การประเมินคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ หรือ T-VER Farming โดยตอบสนองนโยบายประเทศที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อต้นไม้เจริญเติบโตจนสามารถดูดซับ เก็บกักคาร์บอนได้มากพอ ก็สามารถสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต นอกเหนือรายได้การขายผลิตผลจากพืชเศรษฐกิจที่ปลูกร่วมกับป่า


ในวันเดียวกัน องคมนตรี ได้ประชุมติดตามการดำเนินงานภายใต้การประสานความร่วมมือของคณะทำงานสนับสนุนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน 13 หย่อมบ้าน ประชากร 1,919 ครัวเรือน 9,683 คน เป็นชนเผ่าจีนยูนาน อาข่า ปกาเกอะญอ ลาหู่ และอาเข่อซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย ศูนย์ฯ ห้วยน้ำขุ่น ได้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โดยแบ่งตามระดับความสูงของพื้นที่ พืชส่งเสริมหลัก คือ กาแฟอาราบิกา ชา ไม้ผลเมืองหนาว ได้แก่ บ๊วย พลับ พลัม และ ผัก ได้แก่ พริกหวานสีเหลือง สีแดง ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก ซึ่งปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรเป็นมูลค่ากว่า 14 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการรวมกลุ่มพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการสวมหมวกให้ดอย ในปี 2564-2565 ดำเนินการปลูกไม้ป่าไปแล้ว 1,087 ไร่ ในการตรวจเยี่ยมที่ทำการศูนย์ฯ ห้วยน้ำขุ่นครั้งนี้ องคมนตรีได้ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย ซึ่งเป็นกลุ่มไม้โตเร็วที่มีดอกสวยงามเพื่อสร้างความสวยงามแก่พื้นที่ ก่อนเดินทางกลับ


 ข่าวสารและกิจกรรม อื่นๆ